หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

2. บังเกิดจากพระนางพรหมจารีมารีอา

487สิ่งที่ความเชื่อของพระศาสนจักรคาทอลิกเชื่อกัน เกี่ยวกับเรื่องพระนางมารีอานั้นมีพื้นฐานอยู่บนสิ่งซึ่งเป็นความเชื่อเกี่ยวกับพระคริสตเจ้า    แต่สิ่งซึ่งความเชื่อของศาสนาคาทอลิกสั่งสอนเกี่ยวกับพระนางมารีอา ก็ได้ช่วยให้ความสว่างแก่ความเชื่อในพระคริสตเจ้าด้วยเช่นกัน

พระนางมารีอาอยู่ในแผนการนิรันดรของพระเจ้า

488"พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์ให้มาบังเกิด" (กท.4:4) แต่ในการที่จะก่อร่างสร้างกาย สำหรับพระบุตรนั้น พระองค์ทรงปรารถนาที่จะได้รับความร่วมมืออย่างอิสระจากสิ่งสร้าง เพื่อการนี้ -แต่ในนิรันดรกาล- พระเจ้าได้ทรงเลือกสรรสตรีชาวอิสราเอลผู้หนึ่ง เป็นสาวชาวยิวจากเมืองนาซาเร็ธ ในแคว้นกาลิลี ให้เป็นพระมารดาแห่งพระบุตรของพระองค์ คือ "หญิงพรหมจารีคนหนึ่งซึ่งหมั้นอยู่กับชายชื่อโยเซฟ ในราชวงศ์ของกษัตริย์ หญิงพรหมจารีผู้นั้นชื่อ มารีย์" (ลก.1:26-27)

พระบิดาแห่งความเมตตากรุณา ได้ทรงปรารถนาให้การรับธรรมชาติของพระบุตรเกิดขึ้นหลังจากที่ได้มีการยอมรับแล้ว โดยพระมารดาคนที่พระองค์ได้ทรงกำหนดไว้ล่วงหน้านั้น ในลักษณะที่ว่า เมื่อสตรีผู้หนึ่งมีส่วนในการทำให้ความตายเกิดขึ้น ในทำนองเดียวกัน สตรีอีกผู้หนึ่งก็ได้มีส่วนในการทำให้ชีวิตอุบัติขึ้นมา (พระศาสนจักร ข้อ 56)

489ตลอดพันธสัญญาเดิม พันธกิจของพระนางมารีอาได้รับการตระเตรียมจากพันธกิจของสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์หลายคน แรกเริ่มทีเดียว ก็มีเอวา แม้ว่านางจะไม่นบนอบเชื่อฟัง แต่นางก็ได้รับพระสัญญาว่าจะมีลูกหลานที่จะมีชัยต่อปีศาจ และจะได้เป็นมารดาของผู้มีชีวิตทุกคน (เทียบ ปฐก.3:15,20) อาศัยคำมั่นสัญญานี้ นางซาราห์ก็ได้เกิดบุตรชาย แม้ว่าอายุของนางจะมากแล้ว (เทียบ ปฐก.18:10-14; 21:1-2) และโดยที่มนุษย์ทั้งหลายไม่มีใครจะคาดถึง พระเจ้าก็ได้ทรงเลือกสิ่งซึ่งถือกันว่าไร้อานุภาพและอ่อนแอ เพื่อแสดงว่าพระองค์ยังซื่อตรงต่อคำมั่นสัญญาของพระองค์อยู่ เช่น อันนา มารดาของซามูแอล เดโบราห์ รูธยูดิธ และเอสเธอร์ และสตรีอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก (เทียบ 1คร.1:17; 1ซมอ.1) พระนางมารีอา "ครองตำแหน่งที่หนึ่งในบรรดาผู้ต่ำต้อยและยากจนทั้งหลายของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งหวังและได้รับความรอดจากพระองค์ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ กับพระนางมารีอาผู้เป็นธิดาแห่งสิโอนอย่างเลอเลิศ หลังการรอคอยอันยาวนานให้เป็นไปตามพระสัญญา สัมบูรณภาพแห่งกาลเวลาก็มาถึง และระบบใหม่ก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นมา" (พระศาสนจักร ข้อ 55)

การปฏิสนธินิรมล

490เพื่อที่จะเป็นพระมารดาของพระผู้ช่วยให้รอด พระนางมารีอา "ได้รับพระคุณมากมายจากพระเจ้า ในเกณฑ์อันเหมาะสมแก่การที่จะต้องรับภาระอันยิ่งใหญ่" (พระศาสนจักร ข้อ56) อัครเทวดาคาเบรียล เมื่อมาแจ้งสารก็ได้แสดงคารวะต่อพระนางในฐานะเป็น "ผู้ที่พระเจ้าทรงโปรดปราน" (ลก.1:28)   ใช่แล้ว ในการที่จะสามารถตอบรับยินยอมอย่างอิสระด้วยความเชื่อ เมื่อได้รับแจ้งให้ทราบถึงกระแสเรียกแห่งตนเช่นนี้ พระนางจะต้องได้รับการกระตุ้นรุนเร้าจากพระหรรษทานของพระเจ้าเป็นอย่างมาก

491ตลอดเวลาหลายศตวรรษนี้ พระศาสนจักรได้เกิดสำนึกว่า พระนางมารีอา "ผู้ที่พระเจ้าทรงโปรดปราน" (ลก.1:28) ได้รับการไถ่บาปมาก่อนแล้ว นับตั้งแต่การปฏิสนธิของพระนาง นี่เป็นสิ่งที่ยืนยันอยู่ในข้อความเชื่อเรื่องการปฏิสนธิอันนิรมล ซึ่งประกาศมาในปีค.ศ. 1854 โดยพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 9

ณ ชั่วขณะแรกแห่งการปฏิสนธิของพระนางพรหมจารีมารีอา อาศัยพระหรรษทาน และการโปรดปรานเป็นพิเศษจากพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ และเดชะพระบารมีของพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ช่วยมนุษยชาติให้รอด พระนางได้รับการพิทักษ์รักษาไว้ให้พ้นจากมลทินทุกประการแห่งบาปกำเนิด (DS 2803)

492"ศักดิ์สิทธิภาพอันเจิดจรัสหนึ่งเดียวอย่างเด็ดขาด" ซึ่งพระนางพรหมจารีมารีอา ได้รับมาเป็นมหาสมบัติ นับแต่วาระแรกแห่งการปฏิสนธิของพระนางนั้น มาจากองค์พระคริสตเจ้าโดยตลอด พระนาง "ได้รับการไถ่อย่างทรงเกียรติสูงส่ง เดชะพระบารมีแห่งพระบุตรของพระนางนั้นเอง" (พระศาสนจักร ข้อ 53,56) ยิ่งกว่าบุคคลอื่นใดที่ได้รับการสร้างขึ้นมา พระบิดา "ได้ประทานพระพรนานาประการฝ่ายจิตวิญญาณแก่พระนางมารีอา ณ สวรรค์สถานในพระคริสตเจ้า" และพระบิดาได้ทรงเลือกพระนางมารีอาไว้" ในพระคริสตเจ้า ตั้งแต่ก่อนที่จะทรงเริ่มสร้างโลก เพื่อให้พระนางศักดิ์สิทธิ์และนิรมล เมื่ออยู่ต่อพระพักตร์พระองค์ ในความรัก" (เทียบ อฟ.1:3-4)

493บรรดาปิตาจารย์แห่งธรรมประเพณีตะวันออกเรียกมารดาของพระเจ้าว่า "องค์ศักดิ์สิทธิ์สมบูรณ์"    และถวายเกียรติยกย่องพระมารดาว่า "ทรงปลอดจากรอยมลทินแห่งบาปทุกประการ เนื่องจากได้รับการปั้นขึ้นมาจากพระจิต และประกอบขึ้นเป็นสิ่งสร้างใหม่" (พระศาสนจักร ข้อ 56) อาศัยพระหรรษทานจากพระเจ้า พระนางมารีอาได้คงความบริสุทธิ์ไว้ ปราศจากบาปส่วนพระองค์ทุกประการตลอดชีวิตของพระนาง

"จงเป็นไปแก่ข้าพเจ้าตามวาทะของท่าน..."

494เมื่อได้รับแจ้งว่าตนจะเป็นผู้ให้กำเนิดแก่ "พระบุตรขององค์พระเบื้องบน"  โดยมิได้รู้จักชายใด เดชะพระอานุภาพของพระจิต พระนางมารีอาได้ตอบรับ  "ด้วยความนอบน้อมเชื่อฟังอันเกิดจากความเชื่อ" (รม.1:5) ด้วยความแน่ใจว่า "ไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าจะทรงกระทำไม่ได้" "ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า ขอเป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด" (ลก. 1:37-38) ดังนี้ เมื่อได้ตอบยินยอมให้เป็นไปตามพระวาจาของพระเจ้าแล้ว พระนางมารีอาก็ได้เป็นพระมารดาของพระเยซู  และเมื่อได้ยอมรับอย่างเต็มหัวใจที่จะปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระเจ้าในการช่วยมนุษย์ให้รอด -โดยที่บาปใดก็ไม่อาจมาเหนี่ยวรั้งพระนางไว้ได้- พระนางมารีอาก็มอบองค์โดยสิ้นเชิงให้แก่องค์พระบุตรและกิจการของพระองค์ เพื่อรับใช้ธรรมล้ำลึกแห่งการไถ่กู้ ภายใต้บัญชาของพระบุตรและร่วมกับพระบุตร เดชะพระหรรษทานของพระเจ้า (เทียบ พระศาสนจักร ข้อ 56)

ดังที่นักบุญอีเรเน ได้กล่าวไว้ "โดยการนอบน้อมเชื่อฟัง พระนางมารีอาก็ได้กลายเป็นเหตุแห่งความรอด สำหรับตนเองและมนุษยชาติทั้งมวล" ปิตาจารย์โบราณเป็นจำนวนมากก็ได้กล่าวเช่นเดียวกับนักบุญอีเรเนว่า "ปมที่เกิดขึ้นจากการดื้อดึงของเอวา ก็ได้คลายออกด้วยความนบนอบของพระนางมารีอา สิ่งซึ่งพรหมจารีเอวาได้ผูกไว้เพราะความไม่ยอมเชื่อของตน พรหมจารีมารีอาก็ได้แก้ออกด้วยความเชื่อของตน" เมื่อเปรียบมารีอากับเอวา ปิตาจารย์ทั้งหลายก็เรียกพระนางมารีอาว่า "มารดาแห่งผู้มีชีวิต" และประกาศเนืองๆ ว่า "จากเอวาความตายจากมารีอาชีวิต"  (พระศาสนจักร ข้อ 56)

การเป็นมารดาพระเจ้าของพระนางมารีอา

495เมื่อได้รับการเรียกขานในพระวรสารว่า "พระมารดาของพระเยซู" (ยน.2:1;19:25) นั้น แท้จริงพระนางมารีอาเคยได้รับการต้อนรับ -ภายใต้แรงดลใจจากพระจิต- ตั้งแต่ก่อนการบังเกิดขององค์พระบุตรด้วยซ้ำ ว่าเป็น "พระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า" (ลก.1:43)   จริงแท้องค์พระที่พระนางเป็นผู้ให้กำเนิดเป็นมนุษย์ด้วยพระอานุภาพของพระจิต และได้กลายมาเป็นบุตรของพระนางอย่างแท้จริงทางเลือดเนื้อเชื้อไขนั้น มิใช่ใครอื่นนอกจากพระบุตรนิรันดรแห่งพระบิดา พระบุคคลที่สองแห่งพระตรีเอกภาพ พระศาสนจักรยืนยันว่าพระนางมารีอาคือพระมารดาของพระเจ้า (Theotokos) (สังคายนาแห่งเอเฟซัส : DS 251) อย่างแท้จริง

ความเป็นพรหมจารีของพระนางมารีอา

496ตั้งแต่เริ่มกำหนดหลักเกณฑ์ข้อความเชื่อในระยะแรกๆ พระศาสนจักรก็ได้ยืนยันว่าพระเยซูเจ้าได้ทรงปฏิสนธิขึ้นมาด้วยพระอานุภาพของพระจิตแต่อย่างเดียว ในครรภ์ของพระนางพรหมจารีมารีอา โดยยืนยันอีกด้วยถึงสภาพทางกายของเหตุการณ์อันนั้น คือพระเยซูได้ทรงปฏิสนธิขึ้นมา "ด้วยพระอานุภาพของพระจิต โดยปราศจากการเพาะพันธุ์จากเพศชาย"  (DS 503; เทียบ DS 10-64) บรรดาปิตาจารย์มองการปฏิสนธิจากสาวพรหมจารีว่า เป็นเครื่อง-หมายแสดงว่าเป็นองค์พระบุตรของพระเจ้าโดยแท้ ที่ได้เสด็จมารับสภาวะมนุษย์เช่นเดียวกับเรา

เป็นต้นว่า นักบุญอิกญาซีโอแห่งอันทิโอก (ต้นคริสศตวรรษที่ 2) พูดว่า "ท่านทั้งหลายเชื่อใจอย่างมั่นคงเกี่ยวกับเรื่ององค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา ผู้ทรงสืบเชื้อสายจากสกุลดาวิดอย่างแท้จริง ในทางเลือดเนื้อเชื้อไข เป็นพระบุตรของพระเจ้าตามน้ำพระทัยและพระอานุภาพของพระเจ้า บังเกิดจากสาวพรหมจารีผู้หนึ่งอย่างแท้จริง... ได้ถูกตรึงอย่างจริงจังเพื่อเราในสภาวะมนุษย์ สมัยปอนทิอัส ปีลาต พระองค์ได้ทรงรับทรมานอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับที่ได้ทรงฟื้นคืนชีพอย่างแท้จริง"

497การเล่าในพระวรสาร อธิบายการปฏิสนธิของพระบุตรจากพระนางพรหมจารีมารีอา ว่าเป็นกิจการของพระเจ้า ซึ่งอยู่เหนือความเข้าใจและความเป็นไปได้ทั้งหลายทั้งปวงของมนุษย์ "เด็กที่ปฏิสนธิในครรภ์ของนางนั้นมาจากพระจิตเจ้า" ทูตสวรรค์กล่าวแก่โยเซฟเกี่ยวกับเรื่องของมารีอา คู่หมั้นของเขา (มธ.1:20) พระศาสนจักรมองเรื่องนี้ว่าเป็นการกระทำให้สำเร็จไปตามคำมั่นสัญญาของพระเจ้า ที่ประทานมาโดยผ่านทางประกาศกอิสยาห์ "ดูเถิด หญิงสาวคนหนึ่งจะตั้งครรภ์ และคลอดบุตรชายคนหนึ่ง" (อสย.7:14) (ตามคำแปลภาษากรีก ของพระวรสาร นักบุญมัทธิว 1:23)

498บางครั้ง เราก็รู้สึกไม่สบายใจจากการเงียบกริบในพระวรสารของนักบุญมาระโก   และในจดหมายของนักบุญเปาโลในพันธสัญญาใหม่ เกี่ยวกับการปฏิสนธิอันนิรมลของพระนางมารีอา เราอาจจะถามตนเองอีกด้วยว่า ตรงจุดนี้เป็นเรื่องของนิทานปรัมปรา หรือเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาทางเทวศาสตร์   โดยไม่ได้ต้องการให้เป็นประวัติศาสตร์ ในเรื่องนี้จำต้องตอบว่า ความเชื่อในเรื่องการปฏิสนธิของพระเยซูเจ้าจากสาวพรหมจารี ได้ประสบกับการคัดค้านอย่างรุนแรง ทั้งถูกเยาะเย้ย หรือไม่เป็นที่เข้าใจจากผู้ไม่มีความเชื่อทั้งหลาย อันได้แก่ชาวยิวและคนนอกศาสนา (เทียบ น.จัสติน Dial.99,7:PG 6,708-709) ความเชื่อในข้อนี้ไม่ได้รับแรงกระตุ้นมาจากเทพนิยายของคนนอกศาสนา หรือจากการปรับเปลี่ยนอันใดให้เข้ากับความนึกคิดตามยุคสมัย ความหมายของเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น จะเข้าถึงได้ก็แต่โดยความเชื่อ ซึ่งมองเหตุการณ์นั้นในฐานะ "เป็นสายสัมพันธ์ซึ่งเชื่อมโยงธรรมล้ำลึกทั้งหลายเข้าด้วยกัน" (Dei Filius 4: DS 3016) ในประมวลธรรมล้ำลึกทั้งหมดของพระคริสตเจ้า ตั้งแต่ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ จนถึงปัสกาของพระองค์ นักบุญอิกญาซีโอแห่งอันทิโอกก็เป็นพยานในเรื่องสายสัมพันธ์อันนี้ "เจ้านายแห่งโลกนี้ได้ทำเป็นไม่รู้เรื่องการเป็นพรหมจารีของพระนางมารีอา และการบังเกิดบุตรของพระนาง เช่นเดียวกับการสิ้น-พระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ธรรมล้ำลึกสามประการอันดังสนั่นก้องกังวาน ซึ่งสำเร็จไปในความเงียบของพระเจ้า" (นักบุญอิกญาซีโอ แห่งอันทิโอก; เทียบ 1คร.2:8)

พระนางมารีอา "พรหมจารีเสมอ"

499การค้นคว้าอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับข้อความเชื่อ เรื่องการเป็นมารดาพรหมจารีของพระนางมารีอา ได้ชักนำพระศาสนจักรให้ยืนยันการเป็นพรหมจารีอย่างแท้จริง และตลอดกาลของพระนางมารีอา แม้ในการบังเกิดพระบุตรของพระเจ้า ผู้เสด็จมาเป็นมนุษย์ (เทียบ DS 291,294,427, 442,503,571,1880) แท้จริง การบังเกิดของพระคริสตเจ้า "มิได้เป็นการลดความสุจริตแห่งการเป็นพรหมจารีแห่งพระมารดาของพระองค์ให้ด้อยลงไป แต่เป็นการเชิดชูความสุจริตอันนี้ให้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น" (พระศาสนจักร ข้อ 57) พิธีกรรมของพระศาสนจักรยกย่องสรรเสริญพระนางมารีอาว่าเป็น Aeiparthenos คือ "พรหมจารีเสมอ" (เทียบ พระศาสนจักร ข้อ 52)

500ในเรื่องนี้ บางครั้งก็มีการค้านว่าพระคัมภีร์เอ่ยถึงพี่น้องชายหญิงของพระเยซู (เทียบ มก.3:31-35; 6:3; 1คร.9:5; กท.1:19)    พระศาสนจักรเข้าใจข้อความตอนนี้เสมอมา ว่ามิได้หมายถึงบุตรคนอื่นๆ ของพระนางพรหมจารีมารีอา แท้จริงแล้ว ยากอบและโยเซฟ "น้องชายของพระเยซู" (มธ.13:15) คือบุตรชายของมารีอาคนที่เป็นสาวกของพระคริสตเจ้า ซึ่งเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า "มารีอาอีกผู้หนึ่ง" (มธ.28:1) หมายถึงบรรดาญาติพี่น้องที่สนิทของพระเยซู ตามถ้อยคำสำนวนซึ่งรู้จักกันดีในพันธสัญญาเดิม (เทียบ ปฐก.13:8; 14:16; 29:15)

501พระเยซูเป็นบุตรคนเดียวของพระนางมารีอา   แต่ความเป็นมารดาฝ่ายจิตวิญญาณของพระนางมารีอานั้น แผ่ไปถึงมนุษย์ทุกคนที่พระองค์เสด็จมาช่วยให้รอด "พระบุตรจะได้เป็นบุตรคนแรกในบรรดาพี่น้องจำนวนมาก" (รม.8:29) หมายถึงบรรดาผู้มีความเชื่อ ซึ่ง -ในการเกิดมาและในการศึกษาเล่าเรียน- พระนางมารีอาก็จะให้ความร่วมมือด้วยความรักฉันมารดาของพระนาง (พระศาสนจักร ข้อ 63 เทียบ ยน.19:26-27; รม.8:29; วว.12:17)

การเป็นมารดาพรหมจารีของพระนางมารีอา ในแผนการของพระเจ้า

502การมองด้วยสายตาแห่งความเชื่อ สามารถค้นพบเหตุผลอันล้ำลึก -ในลักษณะเชื่อมโยงกับการเผยแสดงทั้งหมดของพระเจ้า- ซึ่งทำให้พระองค์ทรงปรารถนาให้พระบุตรของพระองค์บังเกิดจากสาวพรหมจารีผู้หนึ่ง ในแผนการช่วยโลกให้รอดของพระองค์ เหตุผลดังกล่าวนี้เกี่ยวพันถึงพระบุคคลและพันธกิจการไถ่กู้ของพระคริสตเจ้า ตลอดจนการต้อนรับพันธกิจนั้นโดยพระนางมารีอา เพื่อมนุษย์ทั้งมวล

503การเป็นพรหมจารีของพระนางมารีอา แสดงถึงพระดำริริเริ่มอย่างเด็ดขาดของพระเจ้า ในการทรงรับธรรมชาติมนุษย์  พระเยซูเจ้าทรงมีแต่พระเจ้าเป็นพระบิดา "พระธรรมชาติมนุษย์ที่พระองค์ทรงรับไว้ไม่ทำให้พระองค์ห่างเหินจากพระบิดาแต่อย่างใด... ทรงเป็นพระบุตรของพระบิดาโดยธรรมชาติ อาศัยพระเทวภาพของพระองค์ ทรงเป็นบุตรชายของพระมารดาโดยธรรมชาติ อาศัยสภาวะมนุษย์ แต่โดยเฉพาะทรงเป็นพระบุตรพระเจ้าในทั้งสองพระธรรมชาติ" (Council of Friuli (796): DS619; เทียบ ลก.2:48-49)

504พระเยซูเจ้าปฏิสนธิเดชะพระจิตในครรภ์แห่งพระนางพรหมจารีมารีอา เพราะพระองค์ทรงเป็น "อาดัมใหม่" ผู้เปิดศักราชการสร้างครั้งใหม่ "มนุษย์คนแรกมาจากดิน เป็นมนุษย์ดิน มนุษย์คนที่สองมาจากสวรรค์" (1คร.15:47) สภาวะมนุษย์ของพระคริสตเจ้านั้น แต่เริ่มปฏิสนธิมาเลยทีเดียว เปี่ยมไปด้วยพระจิต เพราะ "ได้รับพระจิตของพระเป็นเจ้าอย่างบริบูรณ์" (ยน.3:34) จาก "สัมบูรณาการ" ของพระองค์  ผู้เป็นหัวหน้าของมนุษยชาติที่ได้รับการไถ่กู้นี้เอง  ที่ "เราทั้งหลายได้รับพระหรรษทานซ้อนพระหรรษทาน" (ยน.1:16)

505พระเยซูผู้เป็นอาดัมใหม่ -อาศัยการปฏิสนธิของพระองค์จากพระนางพรหมจารีมารีอา-  ได้เริ่มยุคแห่งการเกิดใหม่ ของบรรดาบุตรบุญธรรมทั้งหลายของพระเจ้า ในพระจิตโดยอาศัยความเชื่อ "จะเป็นไปได้อย่างไร" (ลก.1:34) การมีส่วนในชีวิตพระ "มิได้เกิดจากเลือด มิได้เกิดจากความใคร่ฝ่ายเนื้อหนัง มิได้เกิดตามวิสัยของมนุษย์ หากเกิดจากพระเป็นเจ้า" (ยน.1:13) การรับเอาชีวิตพระไว้เป็นสิ่งบริสุทธิ์ เพราะชีวิตพระเป็นของประทานโดยสิ้นเชิงจากพระจิตแก่มนุษย์ ความหมายในเชิงคำมั่นสัญญาแห่งกระแสเรียกของมนุษย์ ในส่วนที่เกี่ยวกับพระเจ้า (เทียบ 2คร.11:2) ได้กระทำสำเร็จไปอย่างสมบูรณ์ในการเป็นมารดาพรหมจารีของพระนางมารีอา

506พระนางมารีอาเป็นพรหมจารี เพราะความเป็นพรหมจารีของพระนาง คือเครื่องหมายแห่งความเชื่อของพระนาง "ซึ่งไม่มีความกังขาอันใดจะเข้าเปลี่ยนแปร" และเครื่องหมายแห่งการถวายตัวของพระนางโดยสิ้นเชิงให้เป็นไปตามน้ำพระทัยของพระเจ้า (พระศาสนจักร ข้อ 63 เทียบ 1คร.7:34-35) ความเชื่อของพระนางนี้เองที่ทำให้พระนางได้เป็นพระมารดาของพระผู้ช่วยให้รอด "พระนางมารีอาผู้มีบุญยิ่งนักหนา เพราะได้รับความเชื่อในพระคริสตเจ้ามากยิ่งกว่า เพราะได้ก่อกำเนิดพระกายของพระคริสต์เสียอีก"  (น.ออกัสติน De virg.3: PL 40,398)

507พระนางมารีอาทรงเป็นทั้งพรหมจารีและมารดา เพราะพระนางคือโฉมหน้า และความสำเร็จเป็นจริงอันสมบูรณ์ที่สุดของพระศาสนจักร "พระศาสนจักรรับช่วงมากลายเป็นมารดาอาศัยพระวาจาของพระเจ้าซึ่งพระศาสนจักรรับมาในความเชื่อ โดยการเทศนาสั่งสอนนั้นแน่นอนและโดยการโปรดศีลล้างบาป พระ-ศาสนจักรก็ให้กำเนิด -สู่ชีวิตใหม่อันอมตะ- แก่บุตรเป็นจำนวนมาก ซึ่งปฏิสนธิเดชะพระจิต และเกิดจากพระเจ้า พระศาสนจักรเป็นพรหมจารีเช่นกัน เนื่องจากได้มอบความเชื่อให้แก่พระสวามี เป็นความเชื่อซึ่งพระศาสนจักรได้รักษาไว้อย่างบริสุทธิ์ผุดผ่องและคงสภาพไม่ให้ใครมาแตะต้องได้เลย"     (พระศาสนจักร ข้อ 64 เทียบ 63)