หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

บทที่สอง

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ข้าพเจ้าเชื่อถึงพระเยซูคริสตเจ้าพระบุตรองค์เดียวของพระเป็นเจ้า

ข่าวดี : พระเจ้าได้ทรงส่งพระบุตรของพระองค์ลงมา

422"แต่เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์ให้มาบังเกิดจากหญิงผู้หนึ่ง และเกิดมาอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ เพื่อทรงไถ่ผู้ที่อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ และทำให้เราได้เป็นบุตรบุญธรรม" (กท.4:4-5) นี่คือ "ข่าวดีเรื่องพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า" (มก.1:1)  พระเจ้าได้เสด็จมาเยี่ยมประชากรของพระองค์ พระองค์ได้ปฏิบัติตามพระสัญญาที่ได้ให้ไว้แก่อับราฮัม และต่อพงศ์พันธุ์ของเขา พระองค์ได้ทรงกระทำในลักษณะที่เกิดความคาดหมายทั้งหลายทั้งปวง พระองค์ได้ทรงส่ง "พระบุตรสุดรัก" ของพระองค์ลงมา (มก.1:11)

423เราเชื่อและประกาศยืนยันว่าเยซูแห่งนาซาเร็ธ ถือกำเนิดเป็นยิวจากสตรีชาวอิสราเอลที่เมืองเบธเลเฮม สมัยกษัตริย์เฮโรดผู้ยิ่งใหญ่ และจักรพรรดิซีซาร์ ออกัสตัส ที่ 1 อาชีพช่างไม้ ถูกตรึงกางเขนตายที่กรุงเยรูซาเล็ม  ใต้การปกครองของปอนทิอัส ปีลาต ในรัชสมัยของจักรพรรดิทิเบริอัส คือพระบุตรนิรันดรของพระเจ้าผู้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ พระองค์เป็น "ผู้มาจากพระเจ้า" (ยน.13:3) "ลงมาจากสวรรค์" (ยน.3:13, 6:33) "เสด็จมาเป็นมนุษย์" (1ยน.4:2) เนื่องจากว่า "พระวจนาตถ์ได้ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ และได้เสด็จมาประทับอยู่ท่ามกลางเรา และเราได้เห็นพระสิริมงคลของพระองค์ เป็นสิริมงคลซึ่งพระองค์ได้รับมาจากพระบิดา ในฐานะเป็นพระบุตรองค์เดียว เปี่ยมด้วยพระหรรษทานและความจริง...  ใช่แล้ว เราได้รับทุกสิ่งทุกอย่างจากความไพบูลย์ของพระองค์ เป็นพระหรรษทานซ้อนพระหรรษทาน" (ยน.1:14,16)

424ด้วยแรงดลจากพระหรรษทานของพระจิต และได้รับการดึงดูดจากพระบิดา  เราเชื่อและยืนยันในเรื่องที่เกี่ยวกับพระเยซูว่า "พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต" (มธ.16:16) บนศิลาแห่งความเชื่อข้อนี้ ซึ่งยืนยันโดยนักบุญเปโตรนี้เองที่พระคริสต์ได้ทรงสร้างพระศาสนจักรของพระองค์ (เทียบ มธ.6:18; น.เลโอ องค์ใหญ่ Sermo 4,3 PL 54,150-152;51,1:PL 54)

"ประกาศความไพบูลย์สุดที่จะหยั่งรู้ของพระคริสตเจ้า" (อฟ.3:8)

425การถ่ายทอดความเชื่อในคริสตศาสนา ก่อนอื่น คือประกาศถึงพระเยซูคริสตเจ้า เพื่อชักนำไปสู่ความเชื่อในพระองค์ ตั้งแต่แรกเริ่มมาแล้ว สาวกคนแรกๆ ก็ร้อนเร่าด้วยความปรารถนาที่จะประกาศถึงพระคริสตเจ้า "สำหรับเรา เราไม่สามารถเลิกพูดถึงสิ่งที่เราได้เห็นและได้ยินมา" (กจ.4:20)  แล้วพวกเขาก็เชื้อเชิญมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยให้เข้าสู่ความชื่นชมยินดีของพวกเขาในการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า

สิ่งซึ่งเราได้ฟัง ซึ่งเราได้เห็นด้วยตาของเรา ซึ่งเราได้เฝ้ามอง และซึ่งเราได้สัมผัสด้วยมือของเรา ชีวิตนั้นได้ปรากฏ เราได้เห็นและได้เป็นพยาน เราประกาศให้ท่านทั้งหลายทราบถึงชีวิตนิรันดร ซึ่งอยู่กับพระบิดาและปรากฏให้เราเห็น สิ่งที่เราได้เห็นและได้ฟังนี้ เราประกาศให้ท่านทั้งหลายทราบด้วย เพื่อจะได้ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับเรา ความเป็นหนึ่งเดียวของเราก็คือความเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดา และกับพระบุตรของพระองค์ คือพระเยซูคริสตเจ้า เราเขียนเรื่องนี้ถึงท่าน เพื่อความปิติยินดีของเราจะได้สมบูรณ์ (1ยน.1:1-4)

หัวใจของการสอนคำสอนคือเรื่องพระคริสตเจ้า

426"ตรงใจกลางของการสอนหลักคริสตศาสนา เราจะพบบุคคลสำคัญบุคคลหนึ่ง คือองค์พระ-เยซูแห่งนาซาเร็ธ พระบุตรองค์เดียวของพระบิดา...ผู้ทรงรับทรมานและสิ้นพระชนม์เพื่อเรา และซึ่งบัดนี้ได้ฟื้นคืนชีพและทรงชีวิตอยู่กับเราตลอดกาล" (การสอนคำสอนในยุคปัจจุบัน ข้อ 5) การสอนคำสอน คือการเผยแผนการอันนิรันดรทั้งหมดของพระเจ้าในองค์พระคริสตเจ้าให้ได้ทราบทั่วกัน คือการพยายามเข้าใจความหมายของพระกิริยาการและพระวาจาของพระ-  คริสตเจ้า รวมทั้งหมายสำคัญที่พระองค์ทรงกระทำสำเร็จไป (การสอนคำสอนในยุคปัจจุบัน ข้อ 5) จุดมุ่งหมายของการสอนคำสอนคือ   "ทำให้อยู่ในฐานะที่จะร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูคริสตเจ้า เพราะพระองค์เท่านั้นสามารถนำไปสู่ความรักของพระบิดาในพระจิต และโปรดให้เรามีส่วนในชีวิตของพระตรีเอกภาพผู้ศักดิ์สิทธิ์" (การสอนคำสอนในยุคปัจจุบัน ข้อ 5)

427"ในการสอนคำสอน เรื่องที่จะนำมาสอนก็คือพระคริสตเจ้า พระวจนาตถ์ผู้ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ และพระบุตรของพระเจ้า -ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่เหลือก็เพียงเป็นการอ้างอิงถึงพระองค์ และพระคริสตเจ้าเท่านั้นที่ทรงสั่งสอน- คนอื่นๆ จะสอนก็แต่ในฐานะที่เป็นผู้อัญเชิญพระวาจาของพระองค์ คือให้พระคริสตเจ้าทรงสอนโดยผ่านปากของเขา...ครูคำสอนทุกคนควรจักต้องสามารถนำเอาพระวาจาอันล้ำลึกของพระเยซูเจ้ามาประยุกต์ใช้กับตนเอง ที่ว่า "คำสอนของเราไม่ใช่ของเราเอง แต่เป็นของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา" (ยน.7:16)

428ดังนั้น ผู้ที่ได้รับเรียกให้มา "สอนเรื่องพระคริสตเจ้า" ก่อนอื่น จักต้องแสวงหา "ประโยชน์อันล้ำค่าของการรู้จักพระคริสตเยซู" จักต้อง "ยอมสูญเสียทุกสิ่ง... เพื่อจะได้องค์พระคริสต-เจ้ามาเป็นกำไร และอยู่ในพระองค์" และจะได้ "รู้จักพระองค์ รู้จักฤทธานุภาพของการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ จะได้มีส่วนร่วมในพระทรมานของพระองค์โดยมีสภาพเหมือนพระองค์ในความตาย และจะได้บรรลุถึงการกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตายด้วย" (ฟป. 3:8-11)

429จากการได้รู้จักพระคริสตเจ้าด้วยความรักนี้เอง ที่ความปรารถนาพวยพุ่งขึ้นมาที่จะประกาศถึงพระองค์ "แพร่พระวรสาร" ของพระองค์ และชักนำผู้อื่นมา "ตอบรับ" ความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า แต่ในเวลาเดียวกัน ก็จะรู้สึกถึงความต้องการที่จะได้รู้จักความเชื่อนี้ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ด้วยจุดหมายอันนี้ -โดยการติดตามไปตามลำดับที่มีอยู่ในบท "สัญลักษณ์แห่งความเชื่อ"-   แรกทีเดียว ก็จะมีการเสนอตำแหน่งที่สำคัญๆ ของพระเยซูเจ้า คือการเป็นพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้า (มาตรา 2) บท "สัญลักษณ์" ยังยืนยันต่อไปถึงธรรมล้ำลึกที่สำคัญๆในชีวิตของพระคริสตเจ้า ธรรมล้ำลึกแห่งการรับธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ (มาตรา 3) ธรรมล้ำลึกแห่งปัสกาของพระองค์ (มาตรา 4 และ 5) สุดท้าย ธรรมล้ำลึกแห่งโรจนาการของพระองค์ (มาตรา 6 และ7)