หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

3. บาปกำเนิด การทดลองเรื่องเสรีภาพ

396พระเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์ตามพระฉายาลักษณ์ของพระองค์ และได้สถาปนามนุษย์ไว้ในมิตรภาพของพระองค์ เนื่องจากมนุษย์เป็นสิ่งสร้างฝ่ายจิต มนุษย์จะสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในมิตรภาพอันนี้ได้ ก็แต่ในแบบของการนอบน้อมอย่างอิสระต่อพระเจ้า นี่คือสิ่งที่แสดงออกอยู่ในคำสั่งห้ามมนุษย์รับประทานจากต้นไม้แห่งความสำนึกในความดีและความชั่ว "เพราะในวันใดที่เจ้าขืนกิน เจ้าจะต้องตาย" (ปฐก.2:17) "ต้นไม้แห่งความสำนึกในความดีและความชั่ว" (ปฐก.2:17) คือสัญลักษณ์ชวนใหัระลึกถึงขอบเขตจำกัดอันจะข้ามไปมิได้ ซึ่งมนุษย์ในฐานะสิ่งสร้าง จักต้องยอมรับอย่างอิสระและให้ความเคารพด้วยความไว้วางใจ  มนุษย์ขึ้นอยู่ต่อพระผู้สร้าง มนุษย์ต้องอยู่ใต้กฎแห่งการสร้างสรรค์ และเกณฑ์บรรทัดฐานเชิงจริยธรรม ซึ่งเป็นเครื่องกำหนดวิธีใช้เสรีภาพ

บาปแรกของมนุษย์

397มนุษย์ -เมื่อถูกปีศาจล่อลวง- ก็ปล่อยให้ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อพระผู้สร้างตนขึ้นมาตายไปจากใจ และโดยการละเมิดเสรีภาพแห่งตน ก็ได้ฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้า ในทำนองนี้เองที่บาปแรกของมนุษย์เกิดขึ้น (เทียบ ปฐก.3:1-11; รม.5:19) บาปทุกชนิด ในระยะต่อมา ก็จะเป็นการขัดขืนไม่ยอมเคารพเชื่อฟังต่อพระเจ้า    และขาดความวางใจในพระมหากรุณาของพระองค์เช่นกัน

398ในบาปประการนี้ มนุษย์เลือกเอาตัวเองสำคัญกว่าพระเจ้า และจากการคิดดังนี้ มนุษย์ก็ได้หมิ่นประมาทพระเจ้า มนุษย์ได้เลือกตัวเขาเองในลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์กับพระเจ้า ไม่ยอมทำตามข้อกำหนดในสภาวะของสิ่งสร้าง ดังนั้น จึงเป็นการขัดขืนต่อสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์แก่ตนเอง พระเป็นเจ้าสร้างมนุษย์มาให้อยู่ในสภาพศักดิ์สิทธิ์ พระองค์กำหนดล่วงหน้าให้มนุษย์มีสภาวะพระองค์อย่างเต็มที่ในสิริโรจนา จากการล่องลวงของปีศาจ มนุษย์ก็ต้องการที่จะ "เป็นเหมือนพระเจ้า" แต่ "โดยปราศจากพระเจ้า  และก่อนพระเจ้า  และมิใช่ตามน้ำพระทัยของพระเจ้า" (St. Maximus the Confessor; PG 91,1156C; เทียบ ปฐก.3:5)

399พระคัมภีร์ชี้ให้เห็นผลสืบเนื่องอันน่าสพรึงกลัวของการไม่เชื่อฟังครั้งแรกนั้น อาดัมและเอวาสูญเสียพระหรรษทานแห่งความศักดิ์สิทธิ์ดั้งเดิมไปในทันที (เทียบ รม.3:23) เขาทั้งสองเกิดมีความกลัวพระเจ้า ซึ่งเขาได้ตั้งมโนภาพไว้อย่างผิด คือเป็นพระเจ้าที่หวงแหนในสิทธิอำนาจแห่งตน (เทียบ ปฐก.3:5-10)

400ความประสานประสมกลมกลืน ซึ่งพวกเขาเคยมีอยู่ และซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นมา โดยอาศัยความชอบธรรมตั้งแต่เดิม ถูกทำลายไป อำนาจของวิญญาณในการควบคุมสมรรถภาพฝ่ายจิตเหนือร่างกายก็แตกสลาย ความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างชายและหญิงตกอยู่ในภาวะตรึงเครียด ความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิงจะเห็นชัดว่าเต็มไปด้วยความโลภ และการพยายามจะใช้อำนาจครอบครอง (เทียบ ปฐก.3:7-16) ความกลมกลืนกับสิ่งสร้างอื่นๆ ก็ขาดสะบั้นลง สิ่งสร้างที่เห็นได้ด้วยตา ได้กลายเป็นสิ่งแปลกหน้าและเป็นศัตรูสำหรับมนุษย์ (เทียบ ปฐก.3:17,19) เพราะมนุษย์เป็นต้นเหตุ สิ่งสร้างจึงต้องตกอยู่ในภาวะ "การเป็นทาสแห่งความเสื่อมสลาย" (รม.8:20)   สุดท้าย ผลสืบเนื่องที่ประกาศไว้อย่างชัดแจ้งในกรณีการไม่นบนอบ ครั้งนั้น จะปรากฏเป็นจริงขึ้นมา คือมนุษย์ "จะต้องกลับไปเป็นผงธุลีดินดังเดิม เพราะมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาจากดิน" (ปฐก.3:19) ความตายก็ย่างเข้ามาในประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติด้วยประการฉะนี้ (เทียบ รม.5:12)

401นับตั้งแต่ได้มีการทำบาปเป็นครั้งแรกนั้นแล้ว "การบุกรุก" ของบาปอย่างจริงจังก็แผ่ท่วมไปทั่วโลก  บาปของคาอินที่สังหารอาแบลผู้เป็นน้องชาย   ความชั่วช้าแผ่ไปทั่วโลกเพราะการกระทำบาป ในทำนองเดียวกัน ในประวัติศาสตร์ชนชาติอิสราเอล บาปจะสำแดงให้เป็นที่ประจักษ์บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในรูปของการไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าแห่งพันธสัญญา   และการละเมิดบัญญัติของโมเสส หลังจากที่พระคริสต์ได้ไถ่กู้โลกแล้วก็เช่นกัน ในบรรดาคริสตชน บาปก็ยังสำแดงให้เห็นในลักษณะต่างๆ มากมาย (เทียบ ปฐก.4:3-15;6:5,12 รม.1:18-32; 1คร.1-6; วว.2-3) พระคัมภีร์ และธรรมประเพณีของพระศาสนจักรคอยเตือนอยู่เสมอให้สำนึกถึงการปรากฏอยู่ของบาปทั่วสากลโลกในประวัติศาสตร์แห่งมนุษย์

สิ่งซึ่งการเผยแสดงของพระเจ้าเผยให้เราเห็นนั้น ประสบการณ์ของเราเองก็ยืนยันอยู่ เนื่องจากว่ามนุษย์นั้น -หากมองลึกลงไปในใจตนเอง- ก็จะพบเช่นกันว่าตนเองนั้นมีความโอนเอียงไปข้างความชั่ว จมอยู่ใต้ความเลวร้ายนานัปการ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะมาจากพระผู้สร้างผู้เป็นองค์แห่งความดี จากการที่มนุษย์ปฏิเสธเสมอๆ ที่จะยอมรับพระเจ้าว่าเป็นหลักแรกเริ่มแห่งชีวิตตน -จากการทำอันนี้- มนุษย์ก็ได้ทำลายระเบียบที่คอยชี้ทิศทางให้มนุษย์ไปสู่จุดหมายสุดท้ายแห่งตน และในเวลาเดียวกัน มนุษย์ก็ได้ทำให้ความสนิทสนมกลมกลืนทั้งหมดหักสะบั้นลง ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับตนเอง และที่เกี่ยวกับมนุษย์อื่น ตลอดจนสิ่งสร้างอื่นๆ ทั้งมวลอีกด้วย (พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ ข้อ 13.1)

ผลจากบาปของอาดัมที่มีต่อมนุษยชาติ

402มนุษย์ทุกคนพลอยได้รับผลกระทบไปด้วยจากการทำบาปของอาดัม นักบุญเปาโลยืนยันว่า "มวลมนุษย์กลายเป็นคนบาป เพราะความไม่เชื่อฟังของคนคนเดียวฉันใด มวลมนุษย์ก็จะเป็นผู้ชอบธรรมเพราะความเชื่อฟังของคนคนเดียวฉันนั้น" (รม.5:19) "เช่นเดียวกับที่บาปได้เข้ามาในโลกเพราะมนุษย์คนเดียว และความตายเข้ามาเพราะบาปฉันใด ความตายก็ได้แพร่กระจายไปถึงมนุษย์ทุกคน เพราะทุกคนได้กระทำบาปฉันนั้น..."(รม.5:12) ต่อสภาพความเป็นสากลของบาป   ท่านอัครสาวกในเชิงตรงข้าม ก็เสนอความเป็นสากลของความรอดในพระคริสต์ "ด้วยเหตุนี้ การล่วงละเมิดของมนุษย์คนเดียวเป็นเหตุให้มนุษย์ทุกคนถูกลงโทษฉันใด กิจการชอบธรรมของมนุษย์คนเดียวก็นำความชอบธรรมที่บันดาลชีวิตมาให้แก่มนุษย์ทุกคนฉันนั้น" (รม.5:18)

403ตามแบบฉบับของนักบุญเปาโล พระศาสนจักรได้สั่งสอนเสมอมาว่า ความทุกข์ยากอย่างใหญ่หลวงซึ่งบีบคั้นมนุษย์ และความโอนเอียงของมนุษย์ไปสู่ความชั่วและความตายนั้น จะเข้าใจไม่ได้เลย หากไม่มีการเชื่อมโยงไปถึงบาปของอาดัม  และข้อเท็จจริงที่ว่า อาดัมไปถ่ายทอดบาปๆ หนึ่งมาให้เรา ซึ่งทำให้เราทุกคนเกิดมาในลักษณะที่ต้องกระทบกระเทือนเพราะบาปนี้ ซึ่งก็คือ "ความตายของวิญญาณ" (เทียบ DS 1512) เพราะความเชื่อมั่นในข้อความเชื่อประการนี้ พระศาสนจักรจึงโปรดศีลล้างบาปเพื่อเป็นการยกโทษบาป แม้สำหรับทารกน้อยซึ่งยังไม่ได้เคยทำบาปเป็นการส่วนตัวเลย (เทียบ DS 1514)

404บาปของอาดัมได้กลายมาเป็นบาปของลูกหลานผู้สืบสายโลหิตของเขาอย่างไร  มนุษยชาติทั้งมวลเป็น "ประดุจกายเดียวของมนุษย์คนเดียว" (น.โทมัส อไควนัส, De malo 4,1)ในตัวอาดัม จาก "ความเป็นหนึ่งเดียวแห่งมนุษยชาติทั้งมวล" นี้ มนุษย์ทุกคนก็มีส่วนพัวพันอยู่ในบาปของอาดัม เหมือนกับที่ทุกคนก็ข้องเกี่ยวอยู่ในความชอบธรรมของพระคริสต์ อย่างไรก็ดี การถ่ายทอดบาปกำเนิด เป็นธรรมล้ำลึกซึ่งเราไม่สามารถเข้าใจได้อย่างเต็มที่ แต่เรารู้จากการเผยแสดงของพระเจ้า ว่าอาดัมได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรมแต่ดั้งเดิม มิใช่สำหรับตัวเขาคนเดียว แต่สำหรับธรรมชาติความเป็นมนุษย์ทั้งหมด ในการยอมเชื่อฟังผู้มาล่อลวง อาดัมและเอวาได้กระทำบาปส่วนตัว แต่บาปนั้นมีผลกระทบมาถึงธรรมชาติมนุษย์ ซึ่งเขาจะถ่ายทอดต่อไปในสภาพของคนที่ตกอับแล้ว (เทียบ DS 1511-1512) เป็นบาปซึ่งจะถูกถ่ายทอดโดยการแพร่ขยายออกไปยังมนุษยชาติทั้งมวล  กล่าวคือ โดยการถ่ายทอดจากธรรมชาติความเป็นมนุษย์ ซึ่งไร้ศักดิ์สิทธิภาพและความชอบธรรมดั้งเดิมแล้ว ด้วยเหตุนี้ บาปกำเนิดจึงถูกเรียกว่า "บาป"  ในลักษณะของความอุปมาน คือเป็นบาปที่ "ติดมา" และมิใช่ "กระทำด้วยตนเอง" เป็นสภาพและมิใช่เป็นการกระทำ

405แม้ว่าบาปกำเนิดจะเป็นของเฉพาะแต่ละคน (เทียบ DS 1513) แต่ก็มิได้มีลักษณะเป็นความผิดส่วนตัวแต่อย่างใด ในบรรดาลูกหลานของอาดัม เป็นการหมดสิทธิ์ในศักดิ์สิทธิภาพและความชอบแต่ดั้งเดิม แต่ธรรมชาติความเป็นมนุษย์ยังมิได้เสื่อมสลายไปจนหมดสิ้น เพียงแต่ถูกทำร้ายให้บาดเจ็บในส่วนที่เป็นพลังโดยธรรมชาติ ต้องตกอยู่ในอวิชชา ความทุกข์ทรมาน และอยู่ใต้อำนาจแห่งความตาย และมีใจโน้มเอียงไปข้างบาป (ความโน้มเอียงไปทางความชั่วนี้ เรียกว่า "ราคะตัณหา") ศีลล้างบาป พร้อมกับการให้ชีวิตพระหรรษทานจากพระคริสต์ ก็ลบล้างบาปกำเนิดและคืนมนุษย์กลับสู่พระเจ้า แต่ผลสืบเนื่องสำหรับธรรมชาติมนุษย์ ซึ่งอ่อนแอลงและโน้มเอียงไปทางความชั่ว ก็ยังคงมีอยู่ในตัวมนุษย์ และเรียกร้องให้มนุษย์ต้องทำการต่อสู้ในเชิงจิตวิญญาณ

406หลักคำสอนของพระศาสนจักรเกี่ยวกับการถ่ายทอดบาปกำเนิด แสดงออกมาอย่างชัดเจนโดยเฉพาะในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ภายใต้แรงดลใจจากข้อคิดของนักบุญออกัสติน ซึ่งต่อต้านลัทธิของฤาษีเปลาช และในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในลักษณะคัดค้านการปฏิรูปของลัทธิโปรแตสแตนท์ เปลาชถือว่ามนุษย์นั้น -อาศัยพลังตามธรรมชาติของความตั้งใจจริงโดยอิสระ  โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลืออันจำเป็นจากพระหรรษทานของพระเจ้า- สามารถดำเนินชีวิตอยู่อย่างดีในเชิงจริยธรรม การพูดเช่นนี้เป็นการลดอิทธิพลแห่งการผิดของอาดัมลง ว่าเป็นเพียงอิทธิพลของตัวอย่างที่ไม่ดี   ฝ่ายนักปฏิรูปคนแรกๆ ของพวกโปรแตสแตนท์นั้น ตรงกันข้าม สอนว่ามนุษย์เลวทรามอย่างเด็ดขาด และเสรีภาพถูกเพิกถอนไปก็เพราะบาปกำเนิด พวกเขาชี้ให้เห็นว่าบาปที่มนุษย์แต่ละคนได้รับมรดกตกทอดมานี้ คือสิ่งเดียวกับการโน้มเอียงไปสู่ความชั่ว ซึ่งย่อมจะเอาชนะไม่ได้ พระศาสนจักรได้อธิบายเรื่องนี้อย่างชัดเจนเป็นพิเศษ เกี่ยวกับความหมายของประเด็นที่ได้เผยแสดงแล้ว ในเรื่องของบาปกำเนิด ในสภาสังคายนาสากลครั้งที่สองที่ออเรนจ์ ใน ค.ศ. 529 (DS 371-372) และในการประชุมสภาสังคายนาที่เตรนท์ ใน ค.ศ. 1546 (เทียบ DS 1510-1516)

การต่อสู้ที่ทารุณ...

407หลักคำสอนเกี่ยวกับบาปกำเนิด -เมื่อเชื่อมโยงเข้ากับหลักคำสอนเรื่องการไถ่กู้โดยพระคริสต์- เป็นการทอดสายตาพินิจพิเคราะห์อย่างแจ่มแจ้งลงบนสภาพการณ์ของมนุษย์ และการประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ในโลก จากการทำบาปของบิดามารดาเดิม ปีศาจสามารถเข้ามามีอำนาจครอบงำมนุษย์อยู่พอสมควร แม้ว่ามนุษย์จะยังคงมีอิสรภาพอยู่บาปกำเนิดชักนำไปสู่ "การเป็นทาสอยู่ใต้อำนาจของมันผู้เป็นเจ้าของอาณาจักรแห่งความตาย คือปีศาจ" (DS 1551 เทียบ ฮบ.2:14) การทำเป็นไม่รู้ว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่บาดเจ็บ โน้มเอียงไปทางความชั่ว เป็นเหตุให้เกิดความผิดพลาดร้ายแรงในวงการด้านการศึกษา การเมือง กิจการสังคม (เทียบ พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2, CA 25) และศีลธรรม

408ผลสืบเนื่องจากบาปกำเนิดและบาปส่วนตัวทั้งหมดของมนุษย์ ทำให้โลกโดยทั่วไปตกอยู่ในสภาพเป็นคนบาป ซึ่งอาจจะเรียกได้ตามสำนวนของนักบุญยอห์น ว่า "บาปของโลก" (ยน. 1:29) จากถ้อยคำนี้ เรายังหมายถึงอิทธิพลในทางลบ ซึ่งสภาวการณ์ในชุมชนและโครงสร้างของสังคม มีอยู่เหนือตัวบุคคล อันเป็นผลจากบาปของมนุษย์อีกด้วย (เทียบ RP 16)

409สภาพการณ์อันน่าสะพรึงกลัวของโลก ซึ่ง "ทอดกายอยู่ภายใต้อำนาจแห่งความชั่วโดยสิ้นเชิง" (1ยน.5:19 เทียบ 1ปต.5:8) ทำให้ชีวิตมนุษย์กลายเป็นการต่อสู้

การต่อสู้อย่างทารุณกับอำนาจมืด เกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เมื่อได้เริ่มขึ้นแต่เดิมมาแล้ว ก็จะคงอยู่ต่อไปจนถึงวันสุดท้าย นี่คือสิ่งที่องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสแก่เรา เมื่อผูกพันอยู่กับการสู้รบ มนุษย์ก็จำต้องต่อสู้ต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง เพื่อยึดมั่นอยู่ในความดี และมิใช่โดยปราศจากการใช้ความพยายามเป็นอย่างยิ่ง อาศัยพระหรรษทานจากพระเป็นเจ้า มนุษย์ก็สามารถบรรลุความสำเร็จในการสร้างเอกภาพขึ้นภายในตน (พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ ข้อ37.2)