หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

2. การเผยแสดงของพระเจ้าในฐานะพระตรีเอกภาพ
พระบิดาได้รับการเผยแสดงโดยพระบุตร

238การเอ่ยพระนามวิงวอนพระเจ้าในฐานะ "บิดา" เป็นสิ่งที่รู้จักกันในหลายศาสนา พระเจ้ามักจะได้รับการถือว่าเป็น "บิดาของพระเจ้าทั้งหลายและมนุษย์ทั้งปวง" ในอิสราเอลพระเจ้าได้รับเรียกว่าบิดาในฐานะเป็นพระผู้สร้างโลก (เทียบ ฉธบ.32:6, มลค.2:10) พระเจ้ายังเป็นบิดา   ยิ่งกว่านั้น ด้วยเหตุผลที่ว่าได้มีพันธสัญญา และมีการประทานพระบัญญัติให้แก่อิสราเอล "บุตรหัวปี" ของพระองค์ (อพย.4:22) พระเจ้ายังได้รับการเรียกอีกด้วยว่าเป็นบิดาของกษัตริย์แห่งอิสราเอล พระองค์ทรงเป็น "บิดาของคนยากจนทั้งหลาย" อย่างพิเศษสุด เป็นบิดาของเด็กกำพร้าและหญิงม่าย ซึ่งอยู่ใต้ความคุ้มครองอันเปี่ยมด้วยความรักของพระองค์ (เทียบ 2ซมอ.7:14; สดด.68:6)

239ในการเรียกพระเจ้าว่าเป็น "บิดา" ภาษาความเชื่อชี้ให้เห็นความสำคัญเป็นสองด้าน คือ การที่พระเจ้าเป็นบ่อเกิดแรกเริ่มของทุกสิ่ง และเป็นอำนาจเหนือธรรมชาติและเหตุผลของมนุษย์ และในเวลาเดียวกัน พระองค์ก็ทรงเป็นองค์ความดีและความห่วงใยด้วยความรักต่อลูกๆ ทุกคนของพระองค์ ความรักของพระเจ้าในฐานะบิดานี้ ยังสามารถแสดงออกอีกด้วย โดยภาพลักษณ์ของการเป็นมารดา (เทียบ อสย. 66:13; สดด.131:2) ซึ่งแสดงให้เห็นสภาวะภายในของพระเจ้ามากยิ่งขึ้น และความใกล้ชิดสนิทระหว่างพระเจ้ากับสิ่งสร้างของพระองค์ ภาษาของความเชื่อได้มาจากประสบการณ์แบบมนุษย์ของผู้เป็นบิดามารดา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนคู่แรกของพระเจ้าสำหรับมนุษย์ แต่ประสบการณ์ดังกล่าวก็ชี้ให้เห็นด้วยว่าบิดามารดา ซึ่งเป็นมนุษย์นั้นผิดพลาดได้ และอาจทำให้โฉมหน้าของความเป็นพ่อเป็นแม่ต่างบิดเบือนไป ดังนั้น จึงเป็นการเหมาะสมที่จะรำลึกไว้ว่าพระเจ้าอยู่สูงโพ้นความแตกต่างของมนุษย์ในเรื่องเพศ พระองค์มิใช่ทั้งบุรุษหรือสตรี พระองค์คือพระเจ้า พระองค์ยังทรงอยู่เหนือความเป็นบิดามารดาแบบมนุษย์อีกด้วย ในเวลาเดียวกันก็ทรงเป็นต้นกำเนิดและมาตรการ (เทียบ สดด.27:10; อฟ.3:14; อสย.49:15) ไม่มีใครจะเคยเป็นบิดาเช่นที่พระเจ้าเป็น

240พระเยซูเจ้าทรงเผยแสดงว่าพระเจ้าคือ "พระบิดา" ในความหมายที่พิสดาร พระเจ้ามิได้ทรงเป็นบิดาในฐานะที่ทรงเป็นพระผู้สร้างเพียงเท่านั้น แต่ยังทรงเป็นพระบิดานิรันดร ในความสัมพันธ์กับพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ ซึ่ง - โดยถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน - จะเป็นพระบุตรก็เฉพาะในความสัมพันธ์กับพระบิดา "ไม่มีใครรู้จักพระบุตร นอกจากพระบิดา และไม่มีใครรู้จักพระบิดา นอกจากพระบุตร และผู้ที่พระบุตรเปิดเผยให้ทราบ" (มธ.11:27)

241ด้วยเหตุนี้ บรรดาอัครสาวกจึงประกาศยืนยันพระเยซูในฐานะเป็น "พระวจนาตถ์ ซึ่งในปฐมกาลสถิตอยู่กับพระเจ้าและทรงเป็นพระเจ้า" (ยน.1:1) เป็น "พระฉายาลักษณ์ของพระเจ้า ผู้ซึ่งไม่ประจักษ์แก่ตา" (คส.1:15) เป็น "แสงสะท้อนพระสิริของพระเจ้า และทรงมีสภาวะเป็นพิมพ์เดียวกันกับพระองค์" (ฮบ.1:3)

242ต่อจากอัครสาวกทั้งหลาย ตามธรรมประเพณีอันสืบเนื่องมาจากอัครสาวก พระศาสนจักรได้ประกาศยืนยัน ใน ค.ศ. 325 ในการประชุมสภาสังคายนาสากลครั้งแรกที่นิเชว่า พระบุตรทรงมี "สภาวะเดียวกัน" กับพระบิดา กล่าวคือเป็นพระเจ้าหนึ่งเดียวร่วมกับพระองค์ สภา-สังคายนาสากลครั้งที่สอง ซึ่งประชุมกันที่คอนสแตนติโนเปิล ในปี ค.ศ. 381 ยังคงรักษาสำนวนนี้ไว้ในการกำหนด บท "ข้าพเจ้าเชื่อ" แห่งนิเช และได้ประกาศยืนยัน "พระบุตรองค์เดียวของพระเป็นเจ้า ผู้ "ทรงบังเกิดจากพระบิดาก่อนกัปก่อนกัลป์" เป็นองค์ความสว่างจากองค์ความสว่าง เป็นพระเป็นเจ้าแท้จากพระเป็นเจ้าแท้ มิได้ถูกสร้างแต่ทรงบังเกิดร่วมพระธรรมชาติเดียวกับพระบิดา" (บทข้าพเจ้าเชื่อจากสังคายนานิเช-คอนสแตนติโนเปิล เทียบ DS 150)

พระบิดาและพระบุตรเผยแสดงโดยพระจิต

243ก่อนปัสกาของพระองค์ พระเยซูเจ้าได้ทรงเกริ่นประกาศการส่ง "พระผู้ปลอบโยนอีกองค์หนึ่ง" ลงมา คือพระจิตเจ้า ผู้ปฏิบัติงานมาตั้งแต่มีการสร้างโลก ในอดีตก็ได้เคย"ตรัสผ่านทางประกาศก" บัดนี้พระองค์จะประทับอยู่ใกล้บรรดาสานุศิษย์และในตัวเขา เพื่อสอนเขา และนำทางเขาไป "สู่อัตถ์ความจริง" (ยน.16:13) พระจิตได้รับการเผยแสดงด้วยประการฉะนี้ ในฐานะเป็นพระเจ้าอีกพระบุคคลหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับพระเยซูและพระบิดา

244ต้นกำเนิดนิรันดรของพระจิต เผยแสดงอยู่ในพันธกิจฝ่ายโลกของพระองค์ พระบิดาทรงส่งพระจิตมายังอัครสาวกทั้งหลาย และยังพระศาสนจักร ในพระนามของพระบุตรและโดยพระบุตรพระองค์เอง เมื่อได้เสด็จกลับไปหาพระบิดาแล้ว (เทียบ ยน.14:26; 15:26;16:24) การส่งพระบุคคล พระจิตมา หลังจากได้มีการเทิดพระเกียรติมงคลของพระเยซูเจ้าแล้ว (เทียบ ยน. 7:39) เผยแสดงให้เห็นธรรมล้ำลึกแห่งพระตรีเอกภาพอย่างสมบูรณ์

245ความเชื่ออันสืบเนื่องมาจากอัครสาวกเกี่ยวกับพระจิต ได้รับการยืนยันโดยที่ประชุมสภา-สังคายนาสากลครั้งที่สอง ใน ค.ศ. 381 ที่คอนสแตนติโนเปิล "เราเชื่อในพระจิตว่าทรงเป็นพระเป็นเจ้า ผู้บันดาลชีวิต ทรงเนื่องมาจากพระบิดา" (บทแสดงความเชื่อแห่งนิเช เทียบ DS 150)   จากคำยืนยันนี้ พระศาสนจักรยอมรับว่าพระบิดาคือ "บ่อเกิดและต้นกำเนิดแห่งพระเทวภาพทั้งมวล" (DS 490) อย่างไรก็ตาม ต้นกำเนิดอันนิรันดรของพระจิต มิใช่ว่าจะไม่เกี่ยวพันแต่อย่างใดกับต้นกำเนิดของพระบุตร   "พระจิตผู้ทรงเป็นพระบุคคลที่สามแห่งพระตรีเอกภาพ คือ พระเป็นเจ้า หนึ่งเดียวและเท่าเสมอกับพระบิดาและพระบุตร มีพระสภาวะและพระธรรมชาติแบบเดียวกัน... กระนั้นก็ดี เราไม่พูดว่าพระองค์คือพระจิตแห่งพระบิดาเพียงเท่านั้น แต่ยังทรงเป็นพระจิตแห่งพระบิดาและพระบุตรอีกด้วย" (DS 527) บท"ข้าพเจ้าเชื่อ" ของสภาสังคายนาสากลของพระศาสนจักรที่คอนสแตนติโนเปิล ยืนยันว่า "ทรงรับสักการะและพระสิริรุ่งโรจน์ร่วมกับพระบิดาและพระบุตร" (บทแสดงความเชื่อแห่งนิเช เทียบ DS 150)

246ธรรมประเพณีลาตินของบท "ข้าพเจ้าเชื่อ" ยืนยันว่าพระจิต "ทรงเนื่องมาจากพระบิดาและพระบุตร" สภาสังคายนาแห่งฟลอเรนซ์ ใน ค.ศ. 1438 อธิบายอย่างชัดแจ้งว่า "พระจิตได้รับพระธรรมชาติและการดำรงอยู่ของพระองค์มาจากทั้งพระบิดาและพระบุตร และทรงเนื่องมาจากพระบิดาเช่นเดียวกับจากพระบุตรนิรันดร ประดุจจากหลักเกณฑ์หนึ่งเดียว และวัฏจักรหนึ่งเดียว... และเพราะว่าทุกสิ่งที่เป็นของพระบิดา พระบิดาพระองค์เองได้ประทานแก่พระบุตรองค์เดียวของพระองค์ในการบันดาลให้พระบุตรบังเกิดมายกเว้นการดำรงอยู่เยี่ยงบิดาของพระองค์ กระบวนการสืบเนื่องของพระจิตอันเนื่องมาแต่พระบุตร พระองค์จึงได้รับมาจากพระบิดาผู้บันดาลให้พระองค์บังเกิดมาในนิรันดร" (สังคายนาฟลอเรนซ์ DS 1300-1301)

247การยืนยันในเรื่อง "การเนื่องมาจากพระบิดาและพระบุตร" นี้ ไม่ปรากฏในสัญลักษณ์ที่ได้รับการประกาศยืนยันใน ค.ศ.381 ที่คอนสแตนติโนเปิล แต่ในการปฏิบัติตามธรรมประเพณีเก่าแก่ของฝ่ายลาตินและอเล็กซานเดรีย พระสันตะปาปา เลโอ ที่ 1 ก็ได้ทรงยืนยันเรื่องนี้ไว้แล้ว ในฐานะเป็นหลักคำสอนที่ต้องเชื่อ ในปี ค.ศ. 447 ก่อนที่ทางโรมจะรู้จักและได้รับ -ค.ศ. 451- สัญลักษณ์ของปี 381 ในการประชุมสภาสังคายนาที่คาลซีโดเนียเสียอีก การใช้ถ้อยคำที่กำหนดขึ้นในบท "ข้าพเจ้าเชื่อ" นี้  ได้เป็นที่ยอมรับในไม่ช้าเข้ามาในพิธีกรรมลาติน (ระหว่างคริสตศตวรรษที่ 8 และ 11) การนำเอา "การเนื่องมาจากพระบิดาและพระบุตร" เข้ามาใช้ในสัญลักษณ์แห่งนิเช-คอนสแตนติโนเปิล โดยพิธีกรรมลาตินนี้ อย่างไรก็ดี ได้ก่อให้เกิดการขัดแย้งขึ้นมากับฝ่ายพระศาสนจักรออโธด็อกซ์ แม้กระทั่งทุกวันนี้

248ธรรมประเพณีฝ่ายตะวันออก แรกทีเดียว แสดงออกซึ่งลักษณะแห่งการเป็นต้นกำเนิดแรกของพระบิดาในส่วนที่เกี่ยวกับพระจิต ในการยืนยันว่าพระจิตทรง "มาจากพระบิดา" (ยน. 15:26) ก็เท่ากับธรรมประเพณียืนยันว่าพระจิตมาจากพระบิดาโดยทางพระบุตร (เทียบ งานธรรมทูตแห่งพระศาสนจักร ข้อ 2) ส่วนธรรมประเพณีฝ่ายตะวันตก เริ่มด้วยการแสดงออกซึ่งลักษณะร่วมเป็นหนึ่งเดียวในพระธรรมชาติ  ระหว่างพระบิดาและพระบุตร  โดยกล่าวว่าพระจิตทรงเนื่องมาจากพระบิดาและพระบุตร ธรรมประเพณีกล่าวดังนี้ "อย่างชอบธรรมและสมควรด้วยเหตุผล" (สังคายนาฟลอเรนซ์ DS 1302)    เนื่องจากระเบียบอันนิรันดรของพระบุคคลผู้เป็นพระเจ้า  ในการมีพระธรรมชาติร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันนี้ มีนัยแสดงว่าพระบิดาคือต้นกำเนิดแรกของพระจิต ในฐานะเป็น "หลักเกณฑ์โดยปราศจากหลักเกณฑ์" (สังคายนาฟลอเรนซ์ DS 1331) แต่ก็แสดงด้วยว่า ในฐานะทรงเป็นพระบิดาของพระบุตรองค์เดียว พระบิดาก็ทรงร่วมกับพระบุตรในการเป็น "หลักเกณฑ์หนึ่งเดียวกับที่พระจิตดำเนินไป" (เทียบ สังคายนาลีออง II) การเสริมกันและกันให้สมบูรณ์โดยชอบธรรมแบบนี้ หากไร้ความกระด้างกระเดื่อง ก็จะไม่กระทบถึงเอกลักษณ์แห่งความเชื่อในความเป็นจริงแห่งธรรมล้ำลึกเดียวกันนี้ที่ได้รับการประกาศยืนยันแล้ว