หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

4. สารบบในพระคัมภีร์

120เป็นธรรมประเพณีที่สืบมาจากอัครสาวก ที่ทำให้พระศาสนจักรรู้จักแยกแยะ ว่าข้อเขียนใดสมควรจะถือว่า เหมาะสมแก่การได้อยู่ในบัญชีรายชื่อของหนังสือศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ (เทียบ การเผยของพระเป็นเจ้า ข้อ 8.3) รายชื่อหนังสือทั้งหมดนี้ เรียกว่า "สารบบ" ของพระธรรมคัมภีร์ ประกอบด้วยข้อเขียน 46 เล่มสำหรับพันธสัญญาเดิม (45 หากว่าเรานับ เยเรมีย์ และเพลงคร่ำครวญ เข้าด้วยกัน) และ 27 เล่ม สำหรับพันธสัญญาใหม่ (เทียบ DS 179;1334-1336;1501-1504)

ปฐมกาล อพยพ เลวีนิติ กันดารวิถี เฉลยธรรมบัญญัติ โยชูวา ผู้วินิจฉัย นางรูธ ซามูแอล ฉบับที่ 1-2 พงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1-2 พงศาวดาร ฉบับที่ 1-2 เอสรา และเนหะมีย์ โทบิต ยูดิธ  เอสเธอร์ มัคคาบี ฉบับที่ 1-2 โยบ เพลงสดุดี สุภาษิต ปัญญาจารย์ เพลงซาโลมอน   ปรีชาญาณ บุตรสิรา อิสยาห์ เยเรมีย์ เพลงคร่ำครวญ บารุค เอเสเคียล ดาเนียล โฮเชยา   โยเอล อาโมส โอบาดีย์ โยนาห์ มีคาห์ นาฮูม ฮะบากุก เศฟันยาห์ ฮักกัย เศคาริยาห์ มาลาคี รวม 46 เล่ม สำหรับพันธสัญญาเดิม

พระวรสารโดยนักบุญมัทธิว มาระโก ลูกาและยอห์น  กิจการอัครสาวก  จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโรม ถึงชาวโครินธ์ ฉบับที่ 1-2 ชาวกาลาเทีย ชาวเอเฟซัส ชาวฟิลิปปี ชาวโคโลสี ชาวเธสะโลนิกา ฉบับที่ 1-2 ถึงทิโมธี ฉบับที่ 1-2 ทิตัส ฟิเลโมน ชาวฮีบรู จดหมายของนักบุญยากอบ จดหมายของนักบุญเปโตร ฉบับที่ 1-2 จดหมายของนักบุญยอห์น ฉบับที่ 1-3 จดหมายของนักบุญยูดา และวิวรณ์ รวม 27 เล่ม สำหรับพันธสัญญาใหม่

พันธสัญญาเดิม

121พันธสัญญาเดิม เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่อาจจะขาดหายไปได้จากพระคัมภีร์ หนังสือเหล่านี้ล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากพระเจ้า และทรงคุณค่าที่รักษาไว้อย่างถาวร (เทียบ การเผยของพระเป็นเจ้า ข้อ 14) เพราะพันธสัญญาเดิมนั้นไม่เคยได้มีการยกเลิกเพิกถอนแต่อย่างใด

122แท้จริง "แผนการแห่งพันธสัญญาเดิมถูกจัดไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ คือ  เพื่อเตรียมการเสด็จมาของพระคริสตเจ้า พระผู้ไถ่แห่งสากลโลก และแจ้งล่วงหน้าให้ทราบถึงการเสด็จมานี้ด้วย" (การเผยของพระเป็นเจ้า ข้อ 15) "แม้ว่าหนังสือพระคัมภีร์ (พันธสัญญาเดิม)เหล่านี้บันทึกบางสิ่งบางอย่างที่ยังไม่ครบสมบูรณ์ และเป็นของชั่วคราวไว้ก็จริง" (การเผยของพระเป็นเจ้า ข้อ 15) หลังสือพันธสัญญาเดิมเหล่านี้เป็นประจักษ์พยานถึงวิธีการสอนทั้งหมดของพระเจ้า ที่ให้เรารู้ถึงความรักอันช่วยให้รอดของพระองค์ ในข้อเขียนเหล่านี้ "เป็นที่รวบรวมคำสอนอันสูงส่งเรื่องพระเจ้า รวมทั้งปรีชาญาณที่มีประโยชน์เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์  และยังเป็นคลังคำภาวนาต่างๆ อย่างน่าพิศวง และในที่สุดยังซ่อนธรรมล้ำลึกเรื่องการไถ่กู้ไว้อีกด้วย" (การเผยของพระเป็นเจ้า ข้อ 15)

123คริสตชนให้ความเคารพต่อพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม ในฐานะเป็นพระวาจาที่แท้จริงของพระเจ้า พระศาสนจักรได้คัดค้านอย่างแข็งขันเสมอมา ในเรื่องความคิดที่จะให้ทิ้งพันธ-สัญญาเดิม โดยอ้างว่าพันธสัญญาใหม่จะทำให้พันธสัญญาเดิมดูล้าสมัยใช้ไม่ได้แล้ว (Marcionism)

พันธสัญญาใหม่

124"พระวาจาของพระเจ้า ซึ่งเป็นพลังจากพระเจ้าเพื่อความรอดของผู้มีความเชื่อทุกคนนั้น ปรากฏอยู่ในข้อเขียนแห่งพันธสัญญาใหม่" (การเผยของพระเป็นเจ้า ข้อ 17 เทียบ รม.1:16)    และอานุภาพแห่งพระวาจาก็สำแดงอยู่ในลักษณะที่พิเศษโดยเฉพาะ ข้อเขียนเหล่านี้ช่วยให้เราได้ทราบถึงความจริงอันแน่นอนเด็ดขาดในการเผยแสดงของพระเจ้า จุดหมายศูนย์กลางของข้อเขียนดังกล่าว ก็คือพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า ผู้รับเอากายมาบังเกิดเป็นมนุษย์ กิจการของพระองค์ คำสั่งสอนของพระองค์ มหาทรมานของพระองค์ และพระสิริ-โรจนาการของพระองค์ ตลอดจนระยะเริ่มต้นแห่งพระศาสนจักรของพระองค์ภายใต้แรงดลใจของพระจิต (เทียบ การเผยของพระเป็นเจ้า ข้อ 20)

125พระวรสารคือหัวใจของพระคัมภีร์ทั้งหมด "เพราะเป็นพยานสำคัญถึงพระชนมชีพ และคำสั่งสอนของพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับเอาร่างกายบังเกิดเป็นมนุษย์ และพระผู้ไถ่ของเรา" (การเผยของพระเป็นเจ้า ข้อ 18)

126ในการวางรูปพระวรสาร เราจะสังเกตได้ว่ามี 3 ขั้นตอน

1. ชีวิตและการสั่งสอนของพระเยซูเจ้า พระศาสนจักรถืออย่างมั่นคงว่าพระวรสารทั้งสี่สำนวน"ซึ่งพระศาสนจักรยืนยันรับรองในความเป็นประวัติศาสตร์อย่างไม่ลังเลนั้น จักต้องถ่ายทอดอย่างสัตย์ซื่อในสิ่งที่พระเยซูบุตรพระเจ้าได้ทรงกระทำอย่างแท้จริงและได้ทรงสั่งสอน - ระหว่างที่ทรงดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางมนุษย์ - เพื่อความรอดของมนุษย์ชั่วนิรันดร จนกระทั่งถึงวันที่พระองค์จะเสด็จสู่สวรรค์" (การเผยของพระเป็นเจ้า ข้อ 19 เทียบ กจ.1:1-2)

2. แบบประเพณีการสอนด้วยวาจา    "สิ่งซึ่งพระเยซูเจ้าได้ตรัสไว้และได้ทรงกระทำ อัครสาวกทั้งหลาย - หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จสู่สวรรค์แล้ว- ก็ได้ถ่ายทอดมายังผู้ฟังด้วยภูมิปัญญาที่เข้าใจสิ่งต่างๆ อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งพวกเขาได้มาจากการได้รับความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์อันเปี่ยมด้วยสิริโรจนาของพระคริสตเจ้า และจากการได้รับความสว่างจากพระจิตแห่งความจริง" (การเผยของพระเป็นเจ้า ข้อ 19)

3. พระวรสารที่บันทึกลงเป็นลายลักษณ์อักษร"ผู้ประพันธ์ข้อเขียนศักดิ์สิทธิ์จึงได้ประพันธ์พระวรสารทั้งสี่สำนวนขึ้นมา โดยเลือกเนื้อหาซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากขึ้นมาบางประการ จะด้วยวาจาหรือโดยข้อเขียนลงเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วก็ตามที เรียบเรียงบทสรุปย่อของเนื้อหาอื่นๆ หรือมิฉะนั้นก็อธิบายส่วนที่เกี่ยวกับสภาพการณ์ของพระศาสนจักรสุดท้าย คือรักษารูปแบบไว้ให้มีลักษณะเป็นการเทศน์อย่างที่จะให้เราได้ทราบแต่สิ่งที่เป็นความจริง และตรงไปตรงมาเสมอเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า" (การเผยของพระเป็นเจ้า ข้อ 19)

127พระวรสาร 4 แบบนี้ มีตำแหน่งสำคัญเป็นเอกในพระศาสนจักร ซึ่งแสดงถึงความเคารพที่พิธีกรรมให้แก่พระวรสาร และเสน่ห์ดึงดูดอันหาสิ่งใดมาเปรียบมิได้ ที่พระวรสารมีอยู่เหนือนักบุญทั้งหลายมาทุกยุคทุกสมัย

ไม่มีหลักคำสอนใดที่จะดีกว่า ประเสริฐกว่า และงดงามยิ่งกว่าข้อความในพระวรสาร จงดูและจดจำสิ่งซึ่งพระผู้เป็นเจ้าและศาสดาของเรา คือพระคริสตเจ้า ได้ทรงสั่งสอนด้วยพระวาจาของพระองค์ และกระทำสำเร็จไปด้วยกิจการของพระองค์ (น.เซซาเรีย)

เหนืออื่นใด พระวรสารนั่นเองที่ค้ำจุนข้าพเจ้าไว้ระหว่างการรำพึงภาวนา ในพระวรสาร ข้าพเจ้าพบทุกสิ่งที่จำเป็นแก่ดวงวิญญาณที่น่าสงสารของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามักจะค้นพบความสว่างใหม่ๆ ความหมายที่ซ่อนไว้ และลึกล้ำเป็นจำนวนมาก (น.เทเรซา)

ความเป็นหนึ่งเดียวของพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่

128พระศาสนจักร - แม้กระทั่งในยุคของอัครสาวก (เทียบ 1คร.10:6,11; ฮบ.10:1; 1ปต.3:21) และต่อมาเสมอในธรรมประเพณีของพระศาสนจักร - ได้ให้ความสว่างเกี่ยวกับเอกภาพแห่งแผนการของพระเจ้า ในพระคัมภีร์ทั้งสองฉบับ ทั้งนี้ โดยอาศัยการศึกษาลักษณะพิเศษ (TYPOLOGY การใช้สิ่งของ เหตุการณ์ หรือบุคคลในพันธสัญญาเดิมเป็นรูปแบบความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นในพันธสัญญาใหม่) ซึ่งพิจารณาแยกแยะกิจการของพระเจ้าภายใต้พันธ-สัญญาเดิม ที่เป็นการแสดงล่วงหน้าถึงสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงกระทำสำเร็จไปในบูรณภาพแห่งกาลเวลาในองค์พระบุตรผู้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ (ในพันธสัญญาใหม่)

129ดังนั้น คริสตชนจึงอ่านพันธสัญญาเดิม ในความสว่างแห่งพระคริสตเจ้าผู้สิ้นพระชนม์และฟื้นคืนชีพ การอ่านตามหลักวิชา (TYPOLOGY) ดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นเนื้อหาที่มีอยู่อย่างไม่มีหมดสิ้นในพันธสัญญาเดิม การอ่านแบบนี้จักต้องไม่ทำให้ลืมว่าพันธสัญญาเดิมนั้นยังคงรักษาคุณค่าเฉพาะของการเผยแสดงของพระเจ้า ซึ่งพระเยซูเจ้าพระองค์เองเป็นผู้ทรงยืนยันอยู่ (เทียบ มก.12:29-31) ในอีกทางหนึ่ง พันธสัญญาใหม่ก็เรียกร้องให้อ่านพันธสัญญาใหม่ในความสว่างของพันธสัญญาเดิมเช่นกัน การสอนคำสอนของคริสตชนสมัยดั้งเดิม ก็ได้อาศัยพึ่งพาพันธสัญญาเดิมอยู่เนืองๆ (เทียบ 1คร.5:6-8; 10:1-11)    ตามคำกล่าวในสมัยโบราณว่า พันธสัญญาใหม่นั้นซ่อนอยู่ในพันธสัญญาเดิม ในขณะที่พันธสัญญาเดิมถูกเผยออกมาในพันธสัญญาใหม่ (เทียบ น.ออกัสติน)

130วิชาแยกแยะเหตุการณ์ดังกล่าว หมายถึงพลังผลักดันไปสู่ความสำเร็จลุล่วงไปแห่งแผนการของพระเจ้า เมื่อ "พระเจ้าจะเป็นทุกสิ่งในทุกคน" (1คร.15:28) ดังนี้ กระแสเรียกของอัยกาทั้งหลาย และการอพยพออกจากประเทศอียิปต์ เป็นต้น ย่อมไม่สูญเสียคุณค่าเฉพาะของมันในแผนการของพระเจ้า จากข้อเท็จจริงที่ว่า ทั้งกระแสเรียกและการอพยพ ในเวลาเดียวกันนั้น ก็เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นระหว่างกาล