หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

3. พระจิตเจ้า ผู้อธิบายความหมายในพระคัมภีร์

109ในพระคัมภีร์  พระเจ้าตรัสแก่มนุษย์ในแบบของมนุษย์   ในการที่จะตีความหมายของพระคัมภีร์ให้ดี    จึงต้องเอาใจใส่ต่อสิ่งซึ่งผู้ประพันธ์ที่เป็นมนุษย์ได้ยินผู้อื่นยืนยันมาอย่างแท้จริง      และต่อสิ่งซึ่งพระเจ้าได้ทรงโปรดที่จะสำแดงให้เราทราบโดยอาศัยถ้อยคำของผู้ประพันธ์เหล่านั้น (เทียบ การเผยของพระเป็นเจ้า ข้อ 12.1)110ในการที่จะค้นให้พบเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์หนังสือศักดิ์สิทธิ์ จำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพของยุคสมัยและวัฒนธรรมของเขา "ประเภทของวรรณกรรม" ที่ใช้กันอยู่ในยุคนั้น วิธีรู้สึก พูดจา และเล่าเรื่องที่กระทำกันอยู่ในสมัยนั้น "เนื่องจากว่าในแบบวิธีที่ต่างออกไปมากนี้เอง ที่ความจริงได้ถูกนำเสนอขึ้นมา และแสดงออกในข้อเขียนต่างๆ เชิงประวัติศาสตร์ ในข้อเขียนซึ่งมีลักษณะเชิงประกาศก หรือเป็นบทกวี หรือแม้กระทั่งในรูปแบบของการแสดงออกแบบอื่นๆ" (การเผยของพระเป็นเจ้า ข้อ 12.2)

111แต่ในเมื่อพระคัมภีร์เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นโดยมีแรงบันดาลใจ จึงมีหลักการตีความที่ถูกต้องอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมิใช่ว่าจะสำคัญน้อยไปกว่าแบบแรก และหากปราศจากเสียซึ่งหลักอันนี้ พระคัมภีร์ก็คงจะเป็นเพียงตัวหนังสือที่ตายด้าน นั่นคือ "พระคัมภีร์จักต้องได้รับการอ่านและตีความจากความสว่างของพระจิต  องค์เดียวกับที่ได้ทรงโปรดให้มีการเรียบเรียงพระคัมภีร์นั้นเอง" (การเผยของพระเป็นเจ้า ข้อ 12.3)

ที่ประชุมสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ได้บ่งชี้เกณฑ์บรรทัดฐานไว้ 3 เกณฑ์ด้วยกัน สำหรับการตีความพระคัมภีร์ให้สอดคล้องกับพระจิต ผู้ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้มีการเขียนพระคัมภีร์ขึ้นมา (เทียบ การเผยของพระเป็นเจ้า ข้อ 12.4) คือ

1121) ก่อนอื่น จงให้ความสนใจอย่างยิ่งแก่ "เนื้อหาและเอกภาพของพระคัมภีร์ทั้งเล่ม" เนื่องจากว่า แต่ละภาคแต่ละตอนที่ประกอบขึ้นเป็นพระคัมภีร์นั้น แม้จะแตกต่างกันอยู่ แต่พระคัมภีร์ยังเป็นหนึ่งเดียว เพราะความเป็นหนึ่งเดียวแห่งแผนการของพระเจ้า  ซึ่งมีพระคริสตเยซูเป็นศูนย์กลางและเป็นหัวใจ เปิดอยู่ตั้งแต่ปัสกาของพระองค์ (เทียบ ลก.24:25-27,44-46)

หัวใจของพระคริสตเจ้า หมายถึงพระคัมภีร์ ซึ่งทำให้เราได้รู้จักหัวใจของพระคริสตเจ้า หัวใจนี้ปิดสนิทก่อนมหาทรมาน    เนื่องจากว่าพระคัมภีร์ยังมืดมนอยู่  แต่พระคัมภีร์ได้เปิดออกหลังมหาทรมาน เพราะผู้ที่ได้เข้าใจในพระคัมภีร์นับแต่นั้นมา ได้พิจารณาและแยกแยะว่าคำทำนายเหล่านี้ควรจะได้รับการตีความในลักษณะใด (น.โทมัส อไควนัส)

1132) ต่อมาให้อ่านพระคัมภีร์ "ตามประเพณีอันทรงชีวิตของพระศาสนจักรเป็นส่วนรวม" ตามคติพจน์ของบรรดาปิตาจารย์ พระคัมภีร์นั้นได้ถูกจารึกอย่างเป็นหลักการในหัวใจของพระศาสนจักรมากกว่าในเอกสารหรือการบันทึกใดๆ  แท้จริงแล้ว พระศาสนจักรรักษาความทรงจำอันทรงชีวิตในเรื่องพระวาจาของพระเจ้าไว้ในธรรมประเพณีของพระศาสนจักร และพระจิตเจ้านั้นเองเป็นผู้ประทานการอธิบายความหมายเชิงจิต-วิญญาณในพระคัมภีร์ให้แก่พระศาสนจักร ("...ตามความหมายฝ่ายจิต ซึ่งพระจิตทรงมอบให้แก่พระศาสนจักร")

1143) จงใส่ใจใน "อุปมานแห่งความเชื่อ" (เทียบ รม.12:6) โดยคำว่า "อุปมานแห่งความเชื่อ" เราหมายถึงความสอดคล้องระหว่างกันของข้อความจริงในความเชื่อ และในโครงการทั้งหมดของการเผยแสดง

ความหมายของพระคัมภีร์

115ตามประเพณีดั้งเดิม  เราอาจแบ่งความหมายของพระคัมภีร์ออกเป็น 2 ประการคือ ความหมายตามตัวอักษร และความหมายฝ่ายจิต ประการหลังนี้แบ่งย่อยออกไปเป็นความหมายเชิงเปรียบเทียบ เชิงจริยธรรม และเชิงยกจิตใจให้สูงขึ้นไป การประสานสอดคล้องอย่างลึกซึ้งระหว่างความหมายทั้ง 4 ประการนี้ ทำให้การอ่านพระคัมภีร์ในพระศาสนจักรมีชีวิตชีวา และมั่งคั่งไปด้วยเนื้อหาสาระอย่างเต็มที่

116ความหมายตามตัวอักษร (literal sense) นี่คือความหมายตามนัยแห่งถ้อยคำในพระคัมภีร์และเผยแสดง โดยการอธิบายความตามกฎเกณฑ์ของการตีความอย่างตรงไปตรงมา "ความหมายทั้งหมดของพระคัมภีร์ได้อาศัยความหมายตามตัวอักษรช่วยค้ำจุนทั้งสิ้น" (น.โทมัส อไควนัส)

117ความหมายฝ่ายจิต (spiritual sense) อาศัยความเป็นหนึ่งเดียวแห่งแผนการของพระเป็นเจ้ามิเพียงตัวบทของพระคัมภีร์เท่านั้น แต่ทั้งความเป็นจริงและเหตุการณ์ทั้งหลายที่พูดถึงอาจเป็นเครื่องหมายได้ทั้งสิ้น

1. ความหมายเชิงเปรียบเทียบ (allegorical) เราสามารถที่จะได้มาซึ่งความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น     เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ โดยยอมรับความหมายของเหตุการณ์นั้นๆ ในพระคริสตเจ้า เช่น การข้ามทะเลแดง ก็คือเครื่องหมายแห่งชัยชนะของพระคริสตเจ้า และจากจุดนี้ ก็หมายถึงชัยชนะของศีลล้างบาปด้วย (เทียบ 1คร.10:2)

2. ความหมายเชิงจริยธรรม (moral sense) เหตุการณ์ที่เล่าไว้ในพระคัมภีร์ จักต้องชักนำเราให้ประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูกต้อง เพราะเหตุการณ์เหล่านี้เขียนขึ้น "เพื่อสอนเรา" (1คร.10:11)

3. ความหมายเชิงยกจิตใจให้สูงขึ้นไป (anagogical) (ภาษากรีก: anagoge)  เป็นไปได้เช่นกันที่จะมองความเป็นจริงทั้งหลายและเหตุการณ์ต่างๆ ในความหมายเชิงนิรันดรภาพของความเป็นจริงและเหตุการณ์เหล่านั้น ซึ่งจะชักนำเรา ไปสู่ปิตุภูมิของเรา ด้วยประการฉะนี้ พระศาสนจักรบนแผ่นดิน ก็คือเครื่องหมายแห่งเยรูซาเล็มในสวรรค์ (เทียบ วว.21:1-22:5)

118บทกลอนภาษาลาตินในสมัยกลางได้สรุปนัยสำคัญแห่งความหมายทั้ง 4 แบบไว้ดังนี้

ความหมายตามตัวอักษรสอนให้รู้ถึงเหตุการณ์ต่างๆ การอุปมาหรือการเปรียบเทียบสอนสิ่งที่จักต้องเชื่อ

ความหมายเชิงจริยธรรมสอนสิ่งซึ่งพึงทำ   การยกจิตใจสูงขึ้นไปสอนให้รู้ว่าควรโน้มน้าวไปสู่สิ่งใด

119"เป็นหน้าที่ของผู้อธิบายพระคัมภีร์ที่จะพยายาม - โดยปฏิบัติตามกฎเหล่านี้ - ซึมทราบและอธิบายความหมายของพระคัมภีร์ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อว่า - อาศัยการศึกษาของพวกเขา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการเตรียมงาน - การวินิจฉัยตัดสินของพระศาสนจักรก็จะได้สุกงอมสมบูรณ์เต็มที่เนื่องจากทุกสิ่งที่เกี่ยวกับวิธีตีความในพระคัมภีร์ สุดท้ายก็จะตัองนำเสนอเพื่อขอรับการตัดสินจากพระศาสนจักร ผู้ดำรงตำแหน่ง และใช้อำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากพระเจ้ามาให้เป็นผู้รักษาพระวาจาของพระองค์ และอธิบายความหมายของพระวาจานั้น" (การเผยของพระเป็นเจ้า ข้อ 12.3)

ข้าพเจ้าคงจะไม่เชื่อในพระวรสาร หากว่าผู้มีอำนาจในพระศาสนจักรคาทอลิกมิได้ผลักดันข้าพเจ้าให้ทำดังนั้น (น.ออกัสติน)