หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

2. ความเกี่ยวพันระหว่างธรรมประเพณีและพระคัมภีร์บ่อเกิดร่วมกัน

80"ธรรมประเพณีและพระคัมภีร์ มีความเกี่ยวพันและติดต่อระหว่างกันอยู่อย่างใกล้ชิด เพราะต่างก็พวยพุ่งขึ้นมาจากท่อธารแห่งพระเจ้าเดียวกัน กล่าวได้ว่าประกอบกันขึ้นเป็นมวลรวมหนึ่งเดียว และมุ่งไปสู่จุดหมายสุดท้ายอันเดียวกัน" (การเผยของพระเป็นเจ้า ข้อ 9) ทั้งสองสิ่งนี้ทำให้ธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าปรากฏอยู่และเฟื่องฟูในพระศาสนจักรพระคริสต์ผู้ได้ทรงสัญญาว่าจะประทับอยู่กับคนของพระองค์ "ทุกวันตลอดไป ตราบจนสิ้นพิภพ" (มธ.28:20)

แบบวิธีสองอย่างต่างกันในการถ่ายทอด

81"พระคัมภีร์คือพระวาจาของพระเจ้า ในฐานะที่ได้รับมอบหมายมาเป็นลายลักษณ์อักษร ภายใต้การดลใจของพระจิตเจ้า" (การเผยของพระเป็นเจ้า ข้อ 9)

"ฝ่ายธรรมประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์นั้น ก็เป็นผู้อัญเชิญพระวาจาของพระเจ้าเช่นกัน ซึ่งมอบไว้แก่บรรดาอัครสาวก โดยพระคริสต์ผู้เป็นเจ้าและองค์พระจิต แล้วถ่ายทอดอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนไปยังทายาทผู้สืบทอดตำแหน่งหน้าที่ เพื่อว่า - เมื่อได้รับความสว่างจากพระจิตแห่งความจริง - โดยการเทศน์สอน พวกเขาจะได้รักษาพระวาจานั้นไว้ อธิบายให้เป็นที่เข้าใจ และเผยแพร่ให้กระจายออกไปอย่างสัตย์ซื่อ" (การเผยของพระเป็นเจ้า ข้อ 9)

82ผลก็คือพระศาสนจักร ผู้ได้รับมอบหมายให้ทำการถ่ายทอด และอธิบายความหมายของการเผยแสดงนั้น   "หาได้เกิดความแน่ใจเกี่ยวกับทุกจุดของการเผยแสดงจากการศึกษาพระคัมภีร์แต่อย่างเดียวเท่านั้นไม่ ด้วยเหตุนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงควรเป็นสิ่งที่เรารับเอาไว้ และให้ความคารวะด้วยความรู้สึกรักและเคารพที่เท่าเสมอกัน" (การเผยของพระเป็นเจ้า ข้อ 9)

ธรรมประเพณีของอัครสาวก และธรรมประเพณีของพระศาสนจักร

83ธรรมประเพณีที่เราพูดถึง ณ ที่นี้มาจากอัครสาวก และถ่ายทอดสิ่งซึ่งพวกเขาได้รับจากคำสั่งสอนและแบบฉบับของพระเยซูเจ้า รวมทั้งสิ่งที่ได้เรียนรู้จากพระจิต เป็นความจริงที่ว่า คริสตชนรุ่นแรกนั้น ยังไม่มีพระธรรมคัมภีร์ใหม่ที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และพันธสัญญาใหม่เองก็ยังยืนยันถึงกระบวนการดำเนินงานของธรรมประเพณีที่ทรงชีวิต

"ธรรมประเพณี" นั้นมีหลายลักษณะต่างๆ กัน ซึ่งจะต้องแยกให้ชัดเจน คือ "ธรรมประเพณี"ด้านเทววิทยา ด้านระเบียบวินัย ด้านพิธีกรรม หรือด้านกิจศรัทธา ซึ่งเกิดขึ้นตามกระแสแห่งกาลเวลาในพระศาสนจักรท้องถิ่นทั้งหลาย ธรรมประเพณีดังกล่าวประกอบกันขึ้นเป็นรูปแบบเฉพาะ ซึ่งภายใต้รูปแบบนี้ ธรรมประเพณีใหญ่จะได้รับการแสดงออก ซึ่งปรับเปลี่ยนไปตามสถานที่ต่างๆ กัน และยุคสมัยต่างๆ กัน จากแง่มุมนี้เองที่ธรรมประเพณีเหล่านี้สามารถได้รับการธำรงไว้ ดัดแปลงแก้ไขหรือละทิ้งเสีย ภายใต้การชี้นำของอำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักร