1. การเรียกชื่อและขอพระสังฆราชบวชพระสงฆ์ ( เพื่อขอพระสังฆราชให้ทำการบวช และ ถามว่าเขาเหมาะสมจริงหรือไม่ )

2. คำปราศรัยของพระสังฆราช ( เพื่อบอกว่า พระสงฆ์จะทำหน้าที่อะไรให้พระศาสนจักร )
 

3. การแสดงความสมัครใจของผู้รับการบวชเป็นพระสงฆ์ ( พระสังฆราชจะถามความสมัครใจของผู้เข้าัรับการบวช )

4. บทร่ำวิงวอนนักบุญทั้งหลาย ( การกระทำในส่วนนี้ เป็นการเชื้อเชิญพระศาสนจักรในสวรรค์และบนแผ่นดิน เข้าร่วมในพิธีกรรม การวิงวอนบรรดานักบุญและเทวดาในสวรรค์ ทำให้เห็นว่า พระศาสนจักรทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินต่างเข้าร่วมและร่วมกันสรรเสริญพระเจ้าสำหรับพระคุณของการรับใช้ที่พระเจ้าประทานให้แก่ผู้ที่พระองค์ทรงเรียก หมู่คณะ นำเสนอ และพระสงฆ์ในนามของพระเจ้า เป็นผู้รับคำตอบต่อการเลือกของผู้ถูกเลือก ) (จากหนังสือเฉลิมฉลองอภิเษกพระสังฆราช ยอแซฟ ชูศักดิ์ สิริสุทธิ์ )

5. การปกศีรษะผู้รับการบวชเป็นพระสงฆ์ และบทอภิเษก

ความหมายของการปกศีรษะ เป็นการมอบพระคุณของพระจิตเจ้าเพื่อการบันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์ และการมอบอำนาจเพื่อการทำหน้าที่ที่ได้รับให้สำเร็จตามฐานันดรของการเป็นพระสงฆ์ การบันดาลให้ศักดิ์ศิทธิ์ และการมอบอำนาจทำให้ผู้รับการอภิเษกเป็นพระสงฆ์กลับเป็นบุคคลที่คล้ายกับพระคริสตเจ้าผู้เป็นสงฆ์สูงสุดและสงฆ์แต่ผู้เดียว

ความหมายของบทอภิเษก ในแง่โครงสร้าง บทภาวนา อภิเษก แบ่งออกเป็นสามตอน ได้แก่ การระลึกถึง การอัญเชิญพระจิต  และการ วิงวอน โดยที่ผู้อภิเษกจะสวดบทนี้แต่ลำพังในตอนแรก และตอนสุดท้าย ส่วนในการอัญเชิญพระจิต ผู้ร่วมอภิเษกทุกคนจะีร่วมสวดไปพร้อมกับผู้อภิเษก

ตอนแรก : การระลึกถึง บทระลึกถึงขึ้นต้นด้วยการเรียกหาพระบิดาของพระเยซูคริสตเจ้า และเรียกพระองค์ว่า พระเจ้า พระบิดาผู้ทรงพระเมตตา พระเจ้าแห่งความบรรเทา จากนั้น จึงเริ่มบรรยายเพื่อระลึกถึงพระเมตตาของพระองค์ดังนี้

“พระองค์สถิตอยู่ในสวรรค์ชึ้นสูงสุด แต่ทรงทอดพระเนตรมายังผู้ต่ำต้อย ทรงทราบทุกสิ่งก่อนที่มันจะเกิด แต่ด้วยพระวาจาแห่งความกรุณา พระองค์ได้ทรงวางแผนการไว้กับพระศาสนจักร ทรงกำหนดเชื้อสายของบรรดาผู้ชอบธรรม ให้สืบต่อจากอับราฮัม ตั้งแต่เริ่มทรงตั้งผู้ปกครองและพระสงฆ์ และมิได้ทรงทอดทิ้งพระวิหารไว้ให้ขาดศาสนบริการ ทรงพอพระทัยตั้งแต่แรกเริ่มที่จะทรงรับพระเกียรติในบรรดาผู้ที่พระองค์ทรงเลือกสรรไว้แล้ว”

นี่เป็นบทระลึกถึงแผนการความรอด โดยในช่วงพันธสัญญาเดิม พระเ้้จ้าทรงกำหนดให้มีหัวหน้า ( เผ่า ) และสมณะ เพื่อทำหน้าทีปกครองและถวายสักการบูชาในพระวิหาร สถาบันทั้งสองเป็นภาพล่วงหน้าของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในพันธสัญญาใหม่ เพราะพระสงฆ์เป็นการกลับเป็นจริงตามแผนการความรอดในการที่พระเจ้าทรงโปรดให้มีผู้ปกครองประชากรใหม่ คือพระศาสนจักร และมีพระสงฆ์ในวิหารใหม่เสมอ

ตอนสอง : การอัญเชิญพระจิตเจ้า พระจิตเจ้าทรงได้รับการอัญเชิญให้เสด็จมาประทับอยู่กับผู้รับเลือกนั้น ทรงถูกเรียกขานด้วยคำว่า “พระจิตแห่งการปกครองและการนำ” คำซึ่งวิวัฒนาการจากคำว่า “ Spirtum Principalem ”จาก สดด : 50:14ข ซึ่งในที่นั้น ถูกใช้เพื่อหมายถึงจิตเใจ ที่นอบน้อมเชื่อฟัง คือความใจดี ความพร้อม ความใจกว้าง ในการที่จะทำตามพระบัญชาของพระเจ้า

ตอนสาม : บทวิงวอน เพื่อขอพระพรและพระจิตเจ้า สำหรับพระสงฆ์ใหม่ ให้สามารถเป็นอย่างที่ควรเป็น ทำหน้าที่อย่างที่ควรทำ ดังนั้นในรูปแบบของการวิงวอน บอกถึงหน้าที่ำสำคัญของพระสงฆ์

6. พระสงฆ์ใหม่สวมอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ และรับการเจิม

ความหมายของอาภรณ
์ ( จากหนังสืออิริยาบทและกิริยาอาการในพิธีกรรม โดย คุณพ่อเชษฐา ไชยเดช )

ในพระศาสนจักรพระกายของพระคริสตเจ้านั้น มีความแตกต่างกันในหน้าที่ ความแตกต่างของศาสน  บริกรนี้แสดงออกให้เห็นภายนอกในพิธีกรรม โดยการสวมเสื้ออาภรณ์ที่ไม่เหมือนกัน อาภรณ์เหล่านี้จึงเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงหน้าที่เฉพาะของแต่ละศาสนบริกร และในเวลาเดียวกันอาภรณ์ก็ควรจะมีส่วนให้พิธีกรรมงดงามยิ่งขึ้นด้วย

จริงอยู่ที่ว่า ตามความเชื่อคาทอลิกสอนเราให้มองเห็นตัวตนพระสังฆราช พระสงฆ์และสังฆานุกรเป็นผู้ที่คล้ายกันกับพระคริสตเจ้า ผู้ที่เรามองไม่เห็นก็ตาม แต่ในเวลาที่ท่านปฏิบัติหน้าที่ของตน เป็นตัวตนพระคริสตเจ้า In persona Christi- พวกท่านก็ควรจะสวมเสื้อกาสุลาหรือดัลมาติกา ซึ่งทำให้คนอื่นและท่านเองระลึกได้ว่า ท่านเป็นใครและจะต้องแสดงอะไรให้ผู้อื่นทราบ การสวมเสื้อยาวขาวที่เรียกว่าอัลบา แสดงให้เห็นถึงการตัดกิเลส และค่านิยมทางโลกให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่มากไปกว่านั้นเป็นเครื่องหมายที่ระลึกถึงอาภรณ์ของกษัตริย์และสงฆ์ ที่พระคริสตเจ้าและบรรดาเทพนิกรตลอดจนนักบุญ สวมใส่ในพิธีกรรมสวรรค์

ฉะนั้นด้วยเหตุผลดังกล่าว พระศาสนจักรจึงย้ำเตือนศาสนบริกรให้สวมอาภรณ์ตามตำแหน่งหน้าที่ของตนในพิธีกรรม


เสื้อกาสุลา (Casula)
นักพิธีกรรมตั้งแต่สมัยกลางถึงศตวรรษที่ 13 นำโดย Rabanus Mausus ได้ให้ความหมายของเสื้อนี้ว่า เป็นสัญลักษณ์แห่งความรักเมตตา ซึ่งครอบคลุมคุณธรรมทุกอย่าง มีศักดิ์ศรี มีเกียรติเหนือสิ่งอื่นใด เพราะเสื้อนี้คลุมทับเสื้อและเครื่องหมายอื่นๆ ทุกชิ้นไว้

ในคำภาวนามอบและสวมเสื้อกาสุลา ในพิธีได้ให้ความหมายถึงความรักเมตตาเหนือธรรมชาติด้วย ในคำภาวนาขณะสวมเสื้อกาสุลา (ซึ่งในสมัยหนึ่งพระสงฆ์จะภาวนาขณะสวมเสื้อและเครื่องแต่งกายแต่ละชิ้น) มีกล่าวว่า "ข้าแต่พระเจ้า โปรดสวมแต่งข้าพเจ้าด้วยเครื่องประดับแห่งความสุภาพถ่อมตน แห่งความรักเมตตา และสันติสุข เพื่อว่าโดยอาศัยคุณธรรมทุกๆ ด้าน ข้าพเจ้าจะสามารถเอาชนะศัตรูได้"

เสื้อกาสุลา ไม่เพียงแต่หมายถึงความรักเมตตาเท่านั้น ต่อมายังหมายถึงคุณธรรมอื่นๆ ด้วย เป็นต้นว่า ความยุติธรรม ความศักดิ์สิทธิ์ของพระสงฆ์ ความเป็นผู้มีใจซื่อบริสุทธิ์ พระคุณของพระจิต ความกล้าหาญในการป้องกันความเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบกแอก (แอก = ภาระ) อัน "อ่อนนุ่มและเบา" ของพระคริสตเจ้า เพื่อติดตามพระองค์ไป นอกนั้น ยังมีความหมายถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของพระศาสนจักรอีกด้วย

เชือกคาดเอว (Cingulum)

ผู้ที่ให้ความหมายของผ้าคาดเอวคนแรก คือ Rabanus Maurus ท่านว่าหมายถึง "Custodia mentis" คือ การระแวดระวังตนเอง โดยเฉพาะจากราคะตัณหา รวมทั้งความทะนงตนด้วย นักพิธีกรรมอื่นๆ มีความเห็นเหมือนกับ Amalarius ว่า เชือกหรือผ้าคาดเอว หมายถึง การควบคุมตนเอง และการบำเพ็ญตบะอดออมอาหารการกิน ในสมัยที่พระสงฆ์ยังภาวนา "บทประจำเครื่องแต่งตัว" อยู่นั้น ขณะคาดเอว มีคำภาวนาว่าดังนี้ (บทภาวนาของพระสังฆราช) "ข้าแต่พระเจ้าโปรดคาดเอวข้าพเจ้าด้วยสายคาดแห่งความเชื่อ และรัดใจข้าพเจ้าด้วยคุณธรรมแห่งความบริสุทธิ์ และโปรดทำลายราคตัณหาทั้งสิ้นให้หมดไปเหลือไว้แค่เฉพาะพลังแห่งความบริสุทธิ์ในตัวข้าพเจ้า"

ความหมายที่เป็นแม่บททางรูปคำสอนนั้นหมายถึงความชอบธรรมของพระคริสตเจ้า ตามวจนะของประกาศกอิสยาห์ว่า "ความชอบธรรมจะเป็นผ้าคาดเอวของท่าน…" (อสย 11:5)

ส่วนความหมายที่เป็นแม่บททางภาพพจน์ คือ เป็นสัญลักษณ์ หมายถึงเชือกที่ผูกมัดองค์พระเยซูเจ้าขณะถูกจับและรับทรมาน และยังหมายถึงแส้ที่โบยพระวรกายของพระองค์ด้วย

สตอลา (Stola)

นักพิธีกรรมในสมัยกลางถือว่า ผ้าคล้องคอนี้เป็นเครื่องหมายที่สำคัญมาก ที่บ่งบอกศักดิ์ของสังฆานุกรหรือพระสงฆ์ที่ได้รับจากศีลบวช หมายถึง "แอก" หรือภาระหน้าที่ของพระคริสตเจ้าที่พวกท่านจะแบกไว้ จากเครื่องหมายพื้นฐานนี้มีความหมายอื่นๆ ที่ตามมาคือ หมายถึงคุณธรรมอันจำเป็นที่สังฆานุกรหรือพระสงฆ์จะต้องมีเพื่อประกอบภาระหน้าที่ของท่าน ได้แก่ ความสุภาพถ่อมตน (ความหมายตาม Amalarius) ความนบนอบเชื่อฟัง (ความหมายตาม Rupertus แห่ง Deutz ความบริสุทธิ์ (Onorius) ความปรีชาฉลาดและความอดทน (พระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่สาม) ความเข้มแข็ง (Ivone แห่ง Chartres) Rabanus ได้ให้ความหมายที่แคบเข้า หมายถึง ภาระหน้าที่การประกาศ เทศนา และกล่าวว่า ผ้าสตอลา (Stola) ทำให้ระลึกถึงผู้ประกาศพระวาจาของพระเจ้าที่เหมาะสม หมายความว่า ในการเทศนาจะต้องมีการเตรียมและความรู้สึกว่ากำลังทำอะไร

การใช้เชือกรัดเอวรัดผ้าสตอลา (stola) ไว้ ก็มีความหมายตามนักพิธีกรรม หมายถึงคุณธรรม (ที่ผ้าstola เป็นเครื่องหมาย) ที่จะต้องรวบรวมไว้ในครอบครองของตัวตนเองไว้ให้แน่นเพื่อว่า เวลาถูกมารผจญ ชีวิตจะได้ไม่ต้องอับปาง

7. พระสังฆราชรับผ้าปูตัก เอาน้ำมันคริสมาเจิมฝ่ามือผู้รับศีลบวช

การเจิมด้วยน้ำมันคริสตมา ในพระคัมภีร์ น้ำมันถูกใช้เพื่อหมายถึง ความยินดี การหล่อเลี้ยง ยารักษา แสงสว่าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องหมายของการได้รับการเลือกสรรจากพระเจ้า ในพิธีอภิเษก

การเจิมด้วยน้ำมันคริสมาแสดงถึงการเป็นเหมือนกับพระคริสตเจ้า คือ เหมือนกับพระบิดาทรงเจิมพระคริสตเจ้าด้วยพระจิต และถูกเลือกให้เป็นมหาสมณะ  มีส่วนในสังฆภาพของพระคริสตเจ้าและมีความคล้ายกับพระองค์ในการได้รับพระจิตการเจิมภายนอกเป็นการแสดงถึงการเจิมจากภายในที่แลเห็นไม่ได้ ดังคำที่ใช้ในการเจิมว่า “ขอให้พระเจ้า ซึ่งโปรดให้ท่านมีส่วนในสังฆภาพของพระคริสตเจ้า พระมหาสมณะได้หลั่งน้ำทิพย์ และประทานพระพรฝ่ายจิตมาให้ท่านอย่างอุดมสมบูรณ์”

8. พระสงฆ์ใหม่รับถ้วยกาลิกส์และจานรองแผ่นปัง

เพื่อถวายแด่พระเจ้า  และสำนึกถึงสิ่งซึ่งพระสงฆ์จะกระทำ เจริญชีวิตให้สมกับสิ่งที่พระสงฆ์จะปฏิบัติ และจงประพฤติตนให้สอดคล้องกับพระคริสตเจ้า ผู้ทรงถวายองค์บนไม้กางเขน

9. พระสังฆราชสวมกอดผู้รับศีลบวช (มอบสันติสุขให้)

เป็นการร่วมแสดงความชื่นชมยินดีกับ พระสงฆ์ใหม่


พิธีบวชพระสงฆ์จบลง   เริ่มภาคบูชาขอบพระคุณด้วยการแห่ของถวาย